แน่ใจแค่ไหนที่จะจอดรถบนที่จอดผู้พิการ? เปิดข้อกฎหมาย เช็กให้ชัวร์ว่าผิดกฎหมายหรือเปล่า? แล้วถ้าเป็นคุณ จะจอดในพื้นที่ที่บอกเอาไว้ว่าสำหรับผู้ทุพพลภาพไหม?
ในยุคนี้รถยนต์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้อำนวยความสะดวกให้แก้ทุกคน และยังมีจำนวนมากขึ้นทุก ๆ ปีอีกด้วย มีมากจนการหาที่จอดในสถานที่ต่าง ๆ นั่นอาจจะยากเลยทีเดียว จนบางที่ต้องเอาไปจอดไว้ในที่ห้ามจอดต่าง ๆ เพราะข้ออ้างว่าทำธุระครู่ดียว โดยไม่ได้คำนึงถึง ว่าที่นั่นเป็นที่ไม่ให้จอด เช่นที่จอดรถของผู้พิการ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีความสำคัญไม่น้อยสำหรับโลกยุคนี้ประเทศที่กำลังพัฒนาล้วนแล้วใส่ใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
เป็นข่าวที่เรามักจะเห็นกันทุกปีบ่อยครั้ง ถึงกรณีการพบรถยนต์มาจอดที่ช่องคนพิการ และมีประเด็นถกเถียงกันมากมายว่าเป็นคนปกติแขนขามีเรี่ยวมีแรงดี แต่ก็ดันไม่มีความรับผิดชอบนำรถยนต์ไปจอดไว้บนที่ของคนพิการซะงั้น เพราะว่าที่จอดรถผู้พิการนั้นจะเป็นที่จอดสะดวก ใกล้กับประตูอาคาร หรือ มีขนาดเลนที่ใหญ่กว่าช่องปกตินั่นเอง และที่สำคัญ ส่วนใหญ่จะว่างอีกด้วย
สัญลักษณ์ของที่จอดรถผู้พิการ
แต่ถึงอย่างนั้น การจอดรถบนพื้นที่จอดรถของผู้ทุพพลภาพ ไม่ได้มีความผิดด้านกฎหมาย แต่มีกฎของกระทรวงที่ควบคุมและกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราอีกด้วย ดังนี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ (๓) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และมาตรา ๘ (๑) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) และ (๙) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำ ได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
หมวด ๔ ที่จอดรถ
ข้อ ๑๒ อาคารตามข้อ ๓ ต้องจัดให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา อย่างน้อยตามอัตราส่วน ดังนี้
(๑) ถ้าจำนวนที่จอดรถตั้งแต่ ๑๐ คัน แต่ไม่เกิน ๕๐ คัน ให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราอย่างน้อย ๑ คัน
(๒) ถ้าจำนวนที่จอดรถตั้งแต่ ๕๑ คัน แต่ไม่เกิน ๑๐๐ คัน ให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราอย่างน้อย ๒ คัน
(๓) ถ้าจำนวนที่จอดรถตั้งแต่ ๑๐๑ คัน ขึ้นไป ให้มีที่จอดรถผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราอย่างน้อย ๒ คัน และเพิ่มขึ้นอีก ๑ คัน สำหรับทุก ๆ จำนวนรถ ๑๐๐ คันที่เพิ่มขึ้น เศษของ ๑๐๐ คัน ถ้าเกินกว่า ๕๐ คัน ให้คิดเป็น ๑๐๐ คัน
ข้อ ๑๓ ที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราให้จัดไว้ใกล้ทางเข้าออกอาคารให้มากที่สุด มีลักษณะไม่ขนานกับทางเดินรถ มีพื้นผิวเรียบ มีระดับเสมอกัน และมีสัญลักษณ์รูปผู้พิการนั่งเก้าอี้ล้ออยู่บนพื้นของที่จอดรถด้านที่ติดกับทางเดินรถ มีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า ๙๐๐ มิลลิเมตร และยาวไม่น้อยกว่า ๙๐๐ มิลลิเมตร และมีป้ายขนาดกว้างไม่น้อยกว่า ๓๐๐ มิลลิเมตร และยาวไม่น้อยกว่า ๓๐๐ มิลลิเมตร ติดอยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ มิลลิเมตร ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน
ข้อ ๑๔ ที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราต้องเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างไม่น้อยกว่า ๒,๔๐๐ มิลลิเมตร และยาวไม่น้อยกว่า ๖,๐๐๐ มิลลิเมตร และจัดให้มีที่ว่างข้างที่จอดรถกว้างไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ มิลลิเมตร ตลอดความยาวของที่จอดรถ โดยที่ว่างดังกล่าวต้องมีลักษณะพื้นผิวเรียบและมีระดับเสมอกับที่จอดรถ
ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นผิดกฎหมาย แต่การจอดรถบนที่จอดผู้พิการนั้นเป็นเรื่องของสามัญสำนึก มีหลายคนทีมีทัศนคติที่คิดเพียงแค่เอาสะดวกตัวเอง ว่าที่จอดรถของผู้พิการนั้น นาน ๆ ครั้งจะมีคนที่พิการมาจอดใช้บริการ หรืออาจจะแทบไม่มีมาเลย ทำให้บางคนเกิดความมักง่ายและขาดจิตสำนึก พร้อมมีข้ออ้างสนับสนุนความคิดของตัวเอง เช่น ขอจอดไม่นาน ขอใช้เวลาแป๊บเดียว หรือที่จอดรถของคนปกตินั้นไม่มีที่วาง ทำให้ต้องมาอาศัยจอดในพื้นที่ที่ติดป้ายว่าสำหรับผู้พิการ
และอีกสาเหตุที่ทำให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ นั่นเป็นเพราะว่าโดยทั่วไปมักจะไม่ค่อยมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบว่าเป็นผู้พิการจริง ๆ หรือเปล่า และเพราะความไม่เข้มงวด เด็ดขาด จึงทำให้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ถูกจัดการได้อย่างจริงจังเสียที แต่ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเรามีสามัญสำนึกและนึกถึงคนอื่นและความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นมากพอ แม้จะบอกว่าไม่ค่อยจะมีผู้พิการหรือมีโอกาสที่ผู้พิการจริง ๆ จะเข้ามาจอด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เกิดขึ้น บางทีในขณะที่คุณเอารถเข้าจอดช่องจอดพิเศษนั้น ในเวลาต่อมาอาจมีผู้พิการที่ต้องการที่จอดรถพอดี แต่ไม่มีที่จอดก็ได้ เพราะถูกรถคันอื่นแย่งที่ไปแล้ว
เคยมีกรณีที่มีคนมาเอารถที่เป็นของผู้พิการที่จอดไว้ก่อนหน้า ลากออกมาจากช่องจอด และเอารถของตนไปจอดทับไว้แทน เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ความมักง่ายของคนเรามันเกิดขึ้นได้จริง ๆ กับคนไร้สามัญสำนึก ทั้ง ๆ ที่ก็เห็นอยู่แล้วว่า รถที่จอดอยู่นั้นเป็นรถของผู้พิการ แต่ก็ยังคงทำพฤติกรรมที่ไม่ดีที่สร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่นอยู่ดี เพียงเพื่อความสะดวกสบายของตนเอง
“ผู้สูงอายุที่จอดในที่จอดรถคนพิการ คือถ้าเรามีผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น ใช้วอคเกอร์ หรือเดินไม่สะดวก ก็มีสิทธิจอดได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ใช่แบบนั้น แต่จะมีคนถืออภิสิทธิ์เข้าไปจอดเลย เพราะที่จอดจะอยู่ใกล็กับทางเข้าออกมากที่สุดตรงนี้จึงเป็นประเด็นที่มีรถหรู รถตำรวจไปจอด โดยไม่มีใครกล้าว่า เพราะมีทิปให้รปภ.ที่ละ100 บ้าง ส่วนตำรวจก็ไม่มีใครกล้าแตะ ซึ่งผู้สูงอายุเองค่อนข้างจะเป็นปัญหานิดหนึ่งคือเราก็ต้องการให้มีการสติกเกอร์ แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ญาติจะขับให้และไม่ต้องการที่จะติดสติกเกอร์คนพิการด้วย เราจึงกำลังพูดคุยกับสภาผู้สูงอายุแห่งชาติให้นำสัญลักษณ์ผู้สูงอายุมาทำเป็นป้ายติดรถด้วย รวมทั้งลักษณะของคนบาดเจ็บ-พิการ ชั่วคราวเอง ก็ได้สามารถจอดรถบนที่จอดรถผู้พิการได้ ถ้าเห็นๆ กันอยู่ว่าลงมาใช้ไม้ค้ำยัน ใช้ไม้เท้า”
ที่นี่บราซิล ! แก้เผ็ดคนจอดรถทับที่ผู้พิการ
เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายที่ออกมากำกับอย่างชัดเจนทำให้เกิดช่องโหว่อยู่มากในเรื่องนี้เราจะขอยกตัวอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น กฎหมายที่จอดผู้พิการของที่นั่นถือว่าแรงเอาเรื่อง ก็อาจจะถูกใบเดือนหรือใบสั่งแปะไว้ที่กระจกนั่นเอง ถือแม้ประเทศไทยนั้นยังไม่มีกฎหมายรองรับเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ถ้าหากเป็นที่ ๆ ห้ามจอดแบบชัดเจน อาจจะผิด ตาม พรบ.จราจรทางบกมาตรา 57 หากฝ่าฝืนจอดก็จะมีความผิดความผิดตามกฎหมายรับโทษปรับไม่เกิด 500 บาท เท่านั้นเอง
สำหรับเรื่องการจอดบนที่ของผู้พิการนั้นจะไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ถ้าเราเป็นคนปกติร่างกายแข็งแรง ก็เอื้อเฟื้อให้ผู้พิการจริง ๆ ให้พวกเขาได้จอดเพื่อความสะดวกกันดีกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตสำนึกล้วน ๆ อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกท่านช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อสังคมที่น่าอยู่ และพัฒนาไปด้วยกันต่อไป
ดูเพิ่มเติม
>> ขับรถชนของหลวง ต้องจ่ายเท่าไหร่ แล้วประกันจ่ายให้หรือเปล่า?
>> ทำไงดี รถคันนี้มีงูออกมา? ส่องสาเหตุและวิธีแก้เมื่องูเข้ารถ
เข้าดู รถบ้านมือสอง ได้ที่นี่