คดีเมาแล้วขับเป็นคดีอะไร ความผิดของการเมาแล้วขับเป็นอย่างไร มีโทษร้ายแรงแค่ไหน หากเมาแล้วขับประกันภัยจะให้ความคุ้มครองไหม หาคำตอบพร้อมสาระดี ๆ ได้ในบทความนี้
เมาแล้วขับ นอกจากจะสร้างความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินให้กับทั้งตัวผู้ขับขี่และผู้ร่วมถนนคนอื่น ๆ แล้ว ยังผิดกฎหมายเต็ม ๆ ผู้ที่มีคดีเมาขับ จะต้องถูกปรับ หรือจำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำ รวมถึงถูกเพิกถอนหรือสั่งพักใช้ใบขับขี่
แต่รู้หรือไม่ เป่าเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าเมา ปริมาณแอลกอฮอล์ระดับไหนถือว่ามีความผิด และโทษของเมาแล้วขับเป็นอย่างไร มาดูกัน !
ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ผู้ขับขี่ทั่วไปที่มีอายุเกิน 20 ปี และมีใบขับขี่ (แบบ 5 ปี หรือตลอดชีวิต) หากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถือว่าเมาแล้วขับ ส่วนผู้ที่มีอายุอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ได้รับใบขับขี่ชั่วคราว หรือไม่มีใบขับขี่ หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่ หรือมีใบขับขี่รถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้ หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถือว่าเมาแล้วขับ
คดีเมาแล้วขับ เป็นคดีอะไร ? คดีเมาแล้วขับเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 160 ตรี ผู้ที่มีความผิดจะต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลสามารถสั่งพักใช้ใบขับขี่ได้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบขับขี่
กรณีเมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และให้ศาลสั่งพักใช้ใบขับขี่ กำหนดไม่ต่ำกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบขับขี่
กรณีเมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท หรือจำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี โดยศาลสามารถสั่งพักใช้ใบขับขี่ได้ไม่ต่ำกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบขับขี่
กรณีเมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปีและให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ กรณีที่ทำความผิดครั้งแรกจะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี (นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก) จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 160 ตรี/1 มาตรา 160ตรี/2 และมาตรา 160 ตรี/3 ถูกเพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับตั้งแต่ 50,000 – 100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่ต่ำกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
สำหรับพ.ร.บ.รถยนต์ หรือประกันภาคบังคับ จะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันรวมถึงคู่กรณีในส่วนของค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่ารักษาพยาบาล แต่จะไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถ ส่วนประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจนั้น หากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะไม่ให้ความคุ้มครองทุกกรณี เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เว้นแต่ว่าหากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จึงจะให้ความคุ้มครองทั้งผู้เอาประกันและคู่กรณี
เมาแล้วอย่าขับรถ เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่อาจนำมาซึ่งความสูญเสียร้ายแรงทั้งกับชีวิตและทรัพย์สินของตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารเอง รวมถึงผู้ร่วมถนนคนอื่น ๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก กระทรวงยุติธรรม และ tlt.co.th
อ่านเพิ่มเติม >>