ขับรถชนของหลวง ต้องจ่ายเท่าไหร่ แล้วประกันจ่ายให้หรือเปล่า?

ประสบการณ์ใช้รถ | 6 ม.ค 2564
แชร์ 23

ของของใครของใครก็ห่วง ของใครใครก็ต้องหวง แล้วถ้าของหลวง ใครจะต้องชดใช้? จะทำอย่างไร เมื่อคุณไปเกิดอุบัติเหตุรถขับรถชนของหลวง งานนี้ ประกันจะจ่ายให้หรือเปล่า?

>> ขับรถชนเสาไฟฟ้า ต้องจ่ายเงินให้ใคร?
>> ทำไงดี รถคันนี้มีงูออกมา? ส่องสาเหตุและวิธีแก้เมื่องูเข้ารถ

หากพูดถึงอุบัติเหตุ แน่นอนว่ามันคือสถานการณ์ที่ไม่ว่าใครก็ไม่ประสงค์ให้เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่หากมันเกิดขึ้นแล้วและเลี่ยงไม่ได้เราก็ต้องหาวิธีรับมือเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น หากเป็นการเกิดอุบัติเหตุโดยทั่วไปแล้ว หลายคนอาจจะคงรู้วิธีการดำเนินการว่าจะต้องทำอย่างไร เรียกประกันแบบไหน ทำเรื่องเคลม เรื่องตกลงกันอย่างไร แต่หากถ้าเกิดว่ามันไม่ใช่คดีอุบัติเหตุแบบทั่วไปล่ะ? อย่างเช่นการขับรถไปชนของหลวงเข้า จะต้องทำอย่างไร?

ขับรถชนของหลวง ต้องจ่ายเท่าไหร่?
ขับรถชนของหลวง ต้องจ่ายเท่าไหร่?

การขับรถชนหรือการเกิดอุบัติที่เหตุที่สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินต่าง ๆ บนท้องถนน ที่เราอาจมองว่าเป็นเพียงทรัพย์สินสาธารณะนั้น ใช่ว่าผู้ชนจะไม่มีคู่กรณี เพราะคิดว่าเป็นแค่สิ่งของ เพราะทรัพย์สินเหล่านี้ล้วนมีหน่วยงานดูแลอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ลองตรวจสอบให้แน่ใจว่า ของที่คุณขับรถไปชนนั้น ใช่ของหลวงเหล่านี้หรือเปล่า หากใช่ อย่าคิดตีเนียนทำรอดตัวไปเสียเฉย ๆ เพราะของพวกนี้นั้นล้วนมีมูลค่าที่คุณต้องจ่าย

เสาไฟฟ้า

เมื่อขับรถชนเสาไฟฟ้า จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรการไฟฟ้าที่รับหน้าที่ดูแล โดยจะมีการคำนวณมูลค่าความเสียหายจากขนาดของความสูง กำลังไฟของเสาไฟฟ้า และประเมินร่วมกับค่าดำเนินการที่ต้องรื้อถอน ติดตั้งใหม่ รวมไปถึงชุดอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วย

ขับรถชนเสาไฟฟ้า มีมูลค่าสูงกว่าที่คิด
ขับรถชนเสาไฟฟ้า มีมูลค่าสูงกว่าที่คิด

ซึ่งค่าเสียหายที่ต้องจ่ายเมื่อขับรถไปชนเข้ากับเสาไฟฟ้านั้นตกอยู่ที่ราว ๆ ต้นละ 10,000-30,000 บาทสำหรับเสาไฟฟ้าแรงต่ำ และ 30,000-300,000 สำหรับเสาไฟฟ้าแรงกลางและเสาไฟฟ้าแรงสูง  และหากเสาไฟต้นนั้น มีการพ่วงสายอื่น ๆ ที่สำคัญอีก เช่น สายอินเทอร์เน็ต หรือสายโทรศัพท์ ก็จะอาจจะมีการเรียกเก็บเพิ่มในส่วนนี้เข้าไปอีกด้วยจากผู้ให้บริการแต่ละรายอีกด้วย ซึ่งอาจจะมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านเลยทีเดียว และนอกจากนี้ยังมีความผิดทางกฏหมายมาตรา 438 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

แบริเออร์

อุปกรณ์กั้นขวางทางบนท้องถนนชนิดนี้ เป็นทรัพย์สินของทางภาครัฐหากเกิดอุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหาย จะถูกคำนวณมูลค่าที่ต้องชดใช้อันขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ ขนาด และสภาพพื้นที่ที่เกิดความเสียหาย เพราะเจ้าหน้าที่ จำเป็นที่จะต้องปิดถนนเพื่อทำความสะอาดบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจุดนี้ผู้เสียหายอาจจะต้องจ่ายค่าทำความสะอาดเพิ่มขึ้นด้วย โดยรวม ๆ แล้วอาจต้องชดใช้เป็นจำนวน 800-1,500 บาทต่อชิ้น หรืออาจสูงสุดอยู่ที่ 3,500 บาท

ต้นไม้ พุ่มไม้

อย่าเพิ่งคิดว่าต้นไม้ ดอกไม้ที่ปลูกกันอยู่บนท้องถนนจะไม่มีมูลค่าความเสียหายใด ๆ ที่ต้องชดใช้ เพราะมันอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง ที่มีเทศบาลท้องถิ่นในพื้นที่นั้น ๆ เป็นผู้ดูแล และหน่วยงานเหล่านี้นั้น ไม่ใช่เพียงแค่นำต้นไม้ ดอกไม้มาปลูกไว้เฉย ๆ เพราะพวกเขาต้องบำรุง รดน้ำ ตัดแต่งก้านใบ ให้เป็นระเบียบไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ถนน

ขับรถชนต้นไม้ มีราคาที่ต้องชดใช้สูงสุดถึงหมื่นบาท
ขับรถชนต้นไม้ มีราคาที่ต้องชดใช้สูงสุดถึงหมื่นบาท

ซึ่งหากเมื่อไหร่ที่คุณขับรถไปชนเข้ากับทรัพย์สินธรรมชาตินี้เข้าแล้วล่ะก็ ค่าเสียหายที่คุณต้องจ่ายจะตกอยู่ที่ราว ๆ ประมาณ 2,000 บาทและสูงไปถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว โดยขึ้นอยู่กับขนาดและอายุขัยของต้นไม้ด้วยเช่นกัน

ป้ายจราจร

ป้ายจราจรถือเป็นทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดอุบัติเหตุจนเกิดความเสียหายป้ายแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะทำการเรียกเก็บค่าปรับเบื้องต้นเป็นจำนวนเงิน 400 บาท จากนั้นจะทำส่งเรื่องไปยังกรมทางหลวง เพื่อทำการประเมินความเสียหายและเรียกเก็บจากผู้ขับขี่ โดยมูลค่าของป้ายจะขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของป้าย ตกอยู่ที่ประมาณ 1,000-3,000 บาทต่อชิ้น

อุปกรณ์จราจรต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์จราจรต่าง ๆ บนท้องถนน ที่หากไปเกิดอุบัติเหตุขับชนเมื่อไหร่ จะมีมูลค่าที่ต้องจ่าย ดังนี้

  • เสาสัญญาณไฟจราจร : ที่มักตั้งอยู่บริเวณแยกถนนต่าง ๆ อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง หรือเขตกรุงเทพมหานครฯ ราคาที่ต้องจ่ายอยู่ที่ประมาณ 8,000-15,000 บาท
  • เสาจราจรสีส้ม : พบได้บนทางด่วนหรือทางโค้ง มีไว้กำหนดทิศทางบนพื้นถนน ราคาที่ต้องจ่ายอยู่ที่ประมาณ 800-3,500 บาทต่อต้น
  • กรวยจราจร : ราคาที่ต้องจ่ายอยู่ที่ประมาณ 200-800 บาทต่อชิ้น
  • แผงกั้นจราจร : มักพบเห็นได้ในพื้นที่ที่มีการระวังการเข้าออกของรถ ราคาที่ต้องจ่ายอยู่ที่ประมาณ 1,000-5,000 บาทต่อชิ้น

ประกันรับเคลมไหม เมื่อขับรถชนของหลวง?

สำหรับกรณีการขับรถชนทรัพย์สินราชการ ถือเป็นการอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี หากทำประกันชั้นหนึ่งที่ครอบคลุมความเสียหายส่วนนี้เอาไว้แล้วก็อุ่นใจได้ เพราะทางบริษัทประกันจะรับหน้าที่จ่ายชดใช้ค่าเสียหายภายใต้วงเงินที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะขับชนเสาไฟฟ้า ต้นไม้ หรืออื่น ๆ และนอกจากนี้ยังคุ้มครองในส่วนความเสียหายในทางผู้เอาประกัน และผู้ที่ได้รับความเสียหายจากรถของเราอีกด้วย

ขับรถชนของหลวง ประกันชั้น 1 รับเคลม
ประกันชั้น 1 ครอบคลุมการขับรถชนกับทรัพย์สินทางราชการ

แต่หากรถของคุณมีพ.ร.บ. แต่ไม่ได้ทำประกันชั้น 1 เอาไว้ จะได้รับการคุ้มครองการรรักษาพยาบาลแก่บุคคลที่ได้รับอุบัติเหตุจากรถของเราเพียงเท่านั้น แต่ไม่รับคุ้มครองครอบคลุมความเสียหายของรถและทรัพย์สินใด ๆ ที่ได้รับความเสียหาย ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า พ.ร.บ. รถยนต์ ไม่รับคุ้มครองกรณีขับรถชนของหลวง รวมถึงประกันชั้นอื่นที่ไม่ใช่ขั้น 1 ก็เช่นกัน

>> ประกันรถยนต์ชั้น 1 ราคาหลักพัน ได้คุ้มครองหลักล้าน !
>> เจาะประเด็นน่ารู้! ว่าด้วยรถประจำตำแหน่ง เกิดคดีขึ้นมา ใคร ? จะเป็นผู้รับผิดชอบ

ผ่อนจ่ายได้ไหม หากไม่มีเงิน

แต่ทั้งนี้หากค่าเสียหายที่ถูกเรียกเก็บ มากเกินวงเงินประกันภัย และมีเงินไม่พอชดใช้ สิ่งที่ควรทำคือการขอเข้ารับคำปรึกษาเพื่อผ่อนชำระหรือขอลดหนี้ได้ที่แผนกไกล่เกลี่ยและประนอมหนี้ในหน่วยงานที่ดูแลทรัพย์สินนั้น และห้ามหนีความผิดโดยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นแล้วจะถูกดำเนินคดีและต้องชำระค่าเสียหายตามที่ศาลกำหนดและไม่สามารถต่อรองใด ๆ ได้อีก ซึ่งอาจร้ายแรงจนถึงขั้นล้มละลายได้ หากเงินไม่พอจ่าย

ขับรถชนของหลวง ไกล่เกลี่ยขอลดหนี้ได้
ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ไม่ได้นะ

โดยทรัพย์สินราชการทั้งหมดนี้เมื่อเกิดความเสียหายแล้ว ผู้ที่กระทำผิดต่อทรัพย์สินนั้นจะถูกดำเนินคดีในข้อหา “ผู้ใดทำให้เสียหายหรือทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามมาตรา 360 ในการประมวลกฎหมายอาญา” และหากพบว่าขณะขับขี่มีเหตุทำผิดกรณีอื่น ๆ เช่น เมาแล้วขับ คุยโทรศัพท์ขณะขับขี่ ก็จะถูกดำเนินคดีเพิ่มในข้อหาอื่น ๆ อีกด้วย

แม้จะขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจ แต่ก็ถือว่ามาพร้อมกับความประมาท หากพลาดแล้วก็พลาดเลย ดังนั้นในทุกการใช้รถใช้ถนน พึงมีสติเสมอและรักษาวินัย เคารพกฎจราจรเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัยในทุกการเดินทางของคุณ

เข้าดู รถบ้านมือสอง ได้ที่นี่

ANNOiNA
Avatar

ANNOiNA

บรรณาธิการ
ทุกอย่างมีเหตุและผลของมันเสมอ