รถยนต์ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแค่ตัวรถเท่านั้น การชาร์จไฟเข้าสู่รถยนต์ ก็ยังก้าวไปไกลกันในระดับไร้สายแล้วด้วย
ถือเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์และเปลี่ยนแปลงเรื่องราวหน้าประวัติศาสตร์ได้มากที่สุดสิ่งหนึ่งของโลกมนุษย์ เพราะใช้เวลายาวนานนับพันปีในการค้นพบและพัฒนาจนสามารถมีใช้กันอย่างสะดวกสบายใจปัจจุบัน ผมกำลังพูดถึง "ไฟฟ้า" ในบรรดาปัจจัยต่างๆของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ ไฟฟ้านับเป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องแปรเปลี่ยนสภาพให้ถูกต้องแล้วก็จะนำมาใช้งานได้อย่างมากมายหลากหลายแง่มุม
ไฟฟ้าไปยังไงมายังไง
ครั้งแรกที่มันถูกค้นพบเกิดขึ้นในยุคกรีกโบราณเมื่อราว2000ปีมาแล้ว เมื่อชาวกรีกโบราณสังเกตเห็นว่าเวลาเอาแท่งอำพัน (การทับถมกันอย่างยาวนานของยางไม้เป็นเวลานานๆและแข็งตัว) มาถูกับวัสดุชนิดอื่นจะเกิดแรงลึกลับที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ในตอนนั้น แรงนั้นจะสามารถดึงดูดวัสดุเบาๆได้ เช่น เศษกระดาษ ฝุ่นผง หรือเส้นผม ชาวกรีกในสมัยก่อนจึงบัญญัติศัพท์คำหนึ่งเพื่อนิยามแรงๆนี้ที่เกิดจากแท่งอำพันว่า "อิเล็กตร้า" (Elektra แปลว่า อำพันในภาษากรีก) และเป็นรากศัพท์ของ Electron, Electric หรือไฟฟ้าที่เราใช้กันจนถึงปัจจุบัน
เพิ่มเติม
>> ปิดตัวรถเด่นในงานมหกรรมยานยนต์เพื่อนบ้าน GIIAS 2018
>> “Mitsubishi Xpander” เปิดตัวแล้ว ในงาน Special Report : GIIAS 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย
อำพันที่เกิดจากการทับถมกันของยางไม้และมีซากพืชซากสัตว์ติดค้างด้านใน
ไฟฟ้าสู่ไดนาโม
การก้าวกระโดดครั้งสำคัญของไฟฟ้าเกิดขึ้นหลายครั้ง ครั้งสำคัญจากบุคคลระดับโลกครั้งหนึ่งคือ ปีค.ศ.1831 นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) ได้นำขดขวาดเคลื่อนที่ตัดผ่านสนามแม่เหล็กและเกิดเป็นแรงดันไฟฟ้าเหนี่ยวนำในขดลวด เป็นจุดกำเนิดของไดนาโมและเป็นแม่พิมพ์แรกเริ่มของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในปัจจุบัน
ฟาราเดย์ดิสก์ต้นแบบของไดนาโมในปัจจุบัน
ไฟฟ้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์
ไฟฟ้ายังคงถูกพัฒนาต่อไปและเป็นพลังงานที่สำคัญเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อแบตเตอรี่เข้ามาเป็นตัวละครเอกของการเก็บพลังงานไฟฟ้าและชาร์จกลับเข้าไปได้ และในช่วงหลังปี2000เป็นต้นมา ความโดดเด่นของรถยนต์ไฟฟ้าก็มีมากขึ้นเป็นลำดับ บริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าคงหนีไม่พ้น เทสลามอเตอร์ ของสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีความกังวลหลักๆในมุมมองของผู้ผลิตเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าคือเรื่องระยะทางที่วิ่งได้ของรถยนต์ไฟฟ้าต่อการชาร์จแต่ละครั้ง และปริมาณความจุของไฟฟฟ้าในแบตเตอรี่
โครงสร้างแสดงภาพมอเตอร์ในรถยนต์เทสลาที่ส่งกำลังไปที่ล้อรถ
ตั้งแต่ที่ไฟฟ้าสามารถถูกเก็บลงในรูปแบตเตอรี่ได้ และถูกชาร์จกลับเข้าไปใหม่ได้ ปัจจุบันมันก็สามารถชาร์จแบบไร้สายได้แล้วด้วย แต่ก็ใช่ว่าทุกเครื่องใช้ไฟฟ้าจะสามารถชาร์จแบบไร้สายได้ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าก็เช่นกัน ตามพื้นฐานที่เรารู้กันคือเข้าสถานี้ชาร์จไฟฟ้าที่หน้าตาคล้ายๆกับสถานีบริการน้ำมันมีสายโยงเสียบเข้ารถ แต่สำหรับบริษัท Qualcomm เขามองไปไกลกว่านั้นคือเรื่องของวิธีการชาร์จที่อยากให้เป็นแบบไร้สายเหมือนกับที่เราใช้กันในสมาร์ทโฟน ส่วนรูปแบบที่มองไว้คือความสะดวกสบายในการชาร์จที่เรียกว่า splash and dash คือรถมาจอดนิ่งๆ รอชาร์จ แล้วออกรถได้เลยโดยผู้ขับรถแทบไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น การจะทำแบบนี้ได้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าคือการวิธีชาร์จแบบไร้สาย
การทำงานของระบบชาร์จไฟฟ้าไร้สายในรถยนต์
การนำรถเข้าจอดเพื่อให้แผ่นชาร์จและฐานชาร์จอยู่ตรงกันเกิดการชาร์จไฟฟ้าแบบไร้สาย
ปัจจุบันสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงหลายแบรนด์มีระบบชาร์จแบบไร้สายมาให้แล้วที่สะดวกสบายจากการวางสมาร์ทโฟนเฉยๆก็สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้เลย การชาร์จแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้าคือการทำให้สเกลนั้นๆใหญ่ขึ้น โดยการติดตั้งแผ่นฐานการชาร์จไฟฟ้าไว้บนพื้น และติดตั้งอีกตัวหนึ่งไว้ที่ใต้ท้องรถยนต์ไฟฟ้า จากนั้นอาศัยหลักการการเหนี่ยวนำคลื่นแม่เหล็กที่สั่นพ้องกันในการถ่ายเทพลังงานไฟฟ้า แผ่นฐานการชาร์จที่ติดตั้งบนพื้นจะมีขนาดประมาณ1ตารางเมตร แผ่นที่ติดใต้ท้องรถยนต์จะขนาดประมาณจานข้าวใหญ่ๆ1จาน ผู้ขับก็เพียงแต่ขับไปจอดเหนือฐานชาร์จนั้นๆเพื่อให้ฐานชาร์จและแผ่นเหนี่ยวนำใต้ท้องรถอยู่ในตำแหน่งตรงกัน ด้วยหลักการนี้สามารถทำให้เกิดกำลังจากการชาร์จได้ตั้งแต่3.7กิโลวัตต์ถึง20กิโลวัตต์ เมื่อแผ่นเหนี่ยวนำใต้ท้องรถและฐานชาร์จอยู่ตรงกัน หลังจากผู้ขับขี่ดับรถยนต์การชาร์จแบบไร้สายก็จะเริ่มทำงาน สิ่งที่ทาง Qualcomm คำนึงถึงอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องความปลอดภัยในขณะชาร์จ ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมอะไรก็ตามมาอยู่ระหว่างแผ่นเหนี่ยวนำใต้ท้องรถและฐานชาร์จระบบจะสามารถรับรู้ได้และจะตัดการชาร์จทันทีเพื่อความปลอดภัย ตอนนี้ทาง Qualcomm ให้ชื่อระบบการชาร์จไร้สายนี้ว่า Qualcomm Halo และปัจจุบันถูกติดตั้งในรถยนต์ Formula E Safety เพื่อทดสอบเรื่องการสึกหรอของระบบเมื่อใช้งานไปเรื่อยๆ และใช้รถยนต์คันนี้เป็นต้นแบบในการทำตลาดด้วย
แผ่นชาร์จQualcommที่ติดอยู่ใต้ท้องรถยนต์เพื่อเหนี่ยวนำการชาร์จไฟฟ้าไร้สาย
รถยนต์ไฟฟ้าชาร์จแบบไร้สายแล้วยังไงต่อ
Qualcomm ยังไม่ยอมหยุดแค่เรื่องการจอดรถยนต์ไฟฟ้าแล้วชาร์จแบบไร้สาย แต่เขามองไปยังการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในขณะที่รถยนต์กำลังเคลื่อนที่อยู่ด้วย นั่นยิ่งดูน่าสนใจและดึงดูดให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นได้ มันคือก้าวสำคัญก้าวต่อไปที่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงพัฒนาระบบ สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ก้าวต่อไปนี้สำเร็จลงได้คือระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการชาร์จไฟฟ้าในขณะที่รถยนต์ก็วิ่งไปด้วย เพราะถ้าทำอย่างนั้นได้จริง แบตเตอรี่ลูกใหญ่ๆหนักรถก็แทบจะไม่จำเป็นอีกต่อไปในบางกรณี ทำให้ก้าวต่อๆไปที่สำคัญคือเน้นไปในเรื่องการชาร์จที่ไวขึ้นด้วย ตอนนี้ระบบการชาร์จไฟฟ้าเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้ายังคงอยู่ในช่วงแนวคิดและการวางแผน ถ้าจะเริ่มต้นได้คงเป็นบริเวณที่อยู่ในตัวเมืองก่อนเพื่อเชื่อมต่อจุดสำคัญๆที่อยู่ภายในเมืองและระยะทางไม่ได้ไกลเกินไปนัก ส่วนเรื่องการสถานีการชาร์จที่เร็วและใหญ่ขึ้นก็อยู่ในแผนงานที่กำลังวางไว้เช่นกัน
จากที่บริษัทต่างๆพยายามหันมาพัฒนาและให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้รถยนต์ผู้ใช้ถนนโดยรอบจะได้รับคือ อากาศที่มีมลพิษลดลงจากการปล่อยก๊าซพิษที่ลดลงในรถยนต์แต่ละคัน เพราะความยั่งยืนในวงการอุตสากรรมรถยนต์ระยะยาวจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีไปพร้อมๆกับการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย มิเช่นนั้นการมีเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าโดยไม่สนว่าสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร สำหรับคนรุ่นหลังต่อให้มีสิ่งดีๆใช้ก็คงโวยวายถึงสิ่งแวดล้อมที่เสียไปเป็นแน่ ชาวChobrodเองก็คอยจับตาดูกระแสและแนวโน้มของรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรากันดูนะครับว่าจะมีใช้กันอย่างแพร่หลายเมื่อใด
เพิ่มเติม
>> อนาคตรถพลังไฟฟ้าในไทยแรง หลายค่ายเริ่มขายจริง
>> รถยนต์ไฟฟ้า 3 รุ่นเด็ด เตรียมเข้ามาขายในไทยแล้ว คาดเปิดตัวปีหน้า เตรียมเงินรอไว้ได้เลย
ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่
อ่านรีวิวรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ เชิญที่นี่