การเป็นเจ้าของรถยนต์สักคันมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาอีกหลายอย่าง
ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างต่อเนื่อง ด้วยความต้องการรถยนต์ในแต่ละปีที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร และยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย นอกจากนั้น ด้วยระบบขนส่งมวลชนที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค จึงทำให้มีผู้คนจำนวนมาก ต้องการมีรถยนต์คันแรกเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม การจะเป็นเจ้าของรถยนต์สัก 1 คัน มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกหลายรายการ นอกเหนือจาก ค่างวดผ่อนรถ ค่าน้ำมัน และค่าบำรุงรักษา ที่หลายๆ คนลืมนึกถึง จึงเป็นที่มาคำถามว่า ซื้อรถแล้ว ต้องจ่ายอะไรบ้าง?
10 รายจ่ายสำหรับการใช้รถยนต์
1. ค่า พ.ร.บ. รายปี
พ.ร.บ. คือ การประกันรถยนต์ภาคบังคับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย ปีละ 600-1,200 บาท บางครั้งก็เป็นค่าใช้จ่ายที่พ่วงมากับประกันภัยรถยนต์ หรือบางครั้งก็ต้องซื้อแยกต่างหาก
2. ค่าต่อทะเบียน
ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,500-3,000 บาทต่อปี ยิ่งรถที่มีขนาดใหญ่ เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ก็ยิ่งเสียภาษีส่วนนี้แพงขึ้น สำหรับรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี ต้องนำรถไปตรวจสภาพด้วย
3. ค่าประกันภัย
ประกันภัยรถยนต์ จะช่วยคุ้มครองค่าใช้จ่ายที่เกิดจากภัยจากรถยนต์ ซึ่งโดยทั่วไป มีให้เลือกประกันชั้น 1-3 หรือแล้วแต่ข้อเสนอของแต่ละบริษัท ซึ่งเบี้ยประกันที่สูงขึ้น ก็จะคุ้มครองรถเราได้มากขึ้น โดยเฉลี่ยจะเริ่มต้นที่ประมาณ 6,500 บาท ถ้าประกันชั้น 1 สำหรับรถยนต์บ้านๆ เฉลี่ยอยู่ที่ ปีละ 12,000-20,000 บาท ยิ่งรถแพงเท่าไหร่ ค่าเบี้ยประกันก็ยิ่งแพงขึ้น
4. ค่าบำรุงรักษา
รถยนต์ย่อมมีการสึกหรอ จึงต้องมี
การบำรุงรักษา โดยเฉลี่ยทุก 6-12 เดือน หรือ 10,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่ายก็แตกต่างกันไป ขึ้นกับ ยี่ห้อรถ รุ่นรถ การใช้งาน และความสามารถในการถนอมรถของแต่ละคน แม้จะเป็นรถยนต์ธรรมดาๆ ค่าดูแลรักษาที่เหมาะสมมักจะอยู่ที่ ปีละ 5,000-10,000 บาท แต่ถ้าเป็นรถยนต์ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น หรือรถยนต์ที่เริ่มเก่า ค่าบำรุงรักษาอาจสูงถึงหลายหมื่นบาทต่อปี
5. ค่ายางรถยนต์
ยางรถยนต์ ถือเป็นอีกชิ้นส่วนที่สำคัญมากๆ เพราะเป็นส่วนที่สัมผัสกับถนน ยางที่หมดสภาพแล้ว อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ดังนั้น ไม่ควรละเลยที่จะเปลี่ยนยางตามระยะทาง และเวลาที่เหมาะสม โดยทั่วไปแนะนำให้เปลี่ยนทุก 2 ปี หรือ 50,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพการใช้งาน โดยราคายางรถยนต์ มีตั้งแต่ ชุดละไม่เกิน 10,000 บาท จนถึง หลายหมื่นบาท ขึ้นกับรุ่น ยี่ห้อ ขนาดของยาง แต่โดยเฉลี่ย จะอยู่ที่ ชุดละ 10,000-20,000 บาท
6. ค่าน้ำมัน
ค่าเชื้อเพลิงเป็นสิ่งที่ยากจะระบุตายตัว เพราะราคาน้ำมันผันผวนตลอดเวลา อีกทั้ง
การใช้งานของแต่ละคน อาจต่างกันอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ใช้รถทุกวัน ค่าเชื้อเพลิงมักเกิน 3,000-5,000 บาท สำหรับรถคันเล็ก ยิ่งรถคันใหญ่ หรือรถที่มีอัตราบริโภคน้ำมันสูง ค่าเชื้อเพลิงจะสูงกว่านี้ และอาจถึง 10,000 บาทต่อเดือน วิธีลดค่าเชื้อเพลิงคือ ปรับเปลี่ยนนิสัยการขับขี่ให้เหมาะสม วางแผนการเดินทางให้ดี
7. ค่าทางด่วน
สำหรับบางคนที่บ้านอยู่ไกลจากที่ทำงาน การใช้ทางด่วน อาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเลี่ยงได้เลย เพราะต้องเดินทางระยะไกล แถมยังต้องฝ่าฟันการจราจรที่ติดขัดในแต่ละวัน โดยอัตราค่าทางด่วนในปัจจุบัน เฉลี่ยอยู่ที่ 50-100 บาทต่อการขึ้น 1 ครั้ง สำหรับคนที่ขึ้นทางด่วนทุกวัน ค่าทางด่วนแต่ละเดือน อาจสูงถึง 3,000-4,000 บาท
8. ค่าที่จอดรถ
สำหรับคนที่อยู่หอพัก คอนโดมิเนียม ทาวน์โฮม ที่มีความแออัดสูง หรือคนที่ขับรถไปทำงานในย่านธุรกิจ การเช่าที่จอดรถประจำ ในราคา 1,500-5,000 บาทต่อเดือน กลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะ รถยนต์ส่วนตัว เกิน 7 ที่นั่ง ที่ล่าสุด กรมการขนส่งทางบกออกระเบียบใหม่ในการจดทะเบียน ว่าจะต้องมีที่จอดรถภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดชัดเจน
9. ค่าล้างรถ
ค่าใช้จ่ายในการล้างรถ อาจตกเดือนละหลายพันบาทก็เป็นได้ วิธีช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ คือการหันมา
ล้างรถด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากแล้ว ยังสามารถเลือกอุปกรณ์และน้ำยาที่ใช้ทำความสะอาดรถได้ตามต้องการอีกด้วย
10. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่ว่ามาทั้งหมดแล้ว อาจมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ ที่อาจตามมาโดยไม่ได้คาดหมาย เช่น ค่าปรับจากการขับรถผิดกฎจราจร ค่าใช้จ่ายในการแต่งรถ ค่าอุปกรณ์ติดรถต่างๆ ซึ่งไม่ได้ถูกคิดรวมไว้ในรายการ
เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ผู้ที่จะซื้อรถควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่จะตามมา นอกเหนือจากค่างวดผ่อนรถในแต่ละเดือน รวมทั้งคำนวนรายรับ รายจ่ายอย่างละเอียด ว่าสามารถซื้อรถได้หรือไม่