รถใครของใครก็รัก แต่จะแสดงออกมากน้อยแค่ไหน ดูได้จากสภาพรถของคนๆ นั้นที่ใช้งาน บางคนใช้รถประเภท “ขับอย่างเดียว” ไม่สนใจ ให้การดูแลรถที่ใช้งานวิ่งอยู่ทุกวันสักเท่าไร แต่สำหรับคนรักรถจะตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง จะคอยมั่นสังเกตความผิดปกติของตัวรถ มีปัญหาตรงไหนก็จะรีบแก้ไขให้รถอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
หมั่นดูแลรถยนต์ของคุณอยู่เสมอ เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นและยืดอายุการใช้งาน
และสิ่งที่คนรักรถทุกคนควรทราบก็คืออุปกรณ์ ส่วนประกอบชิ้นไหนของรถที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ มากกว่าส่วนอื่นๆ เราจะพาไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง กับ 6 ชิ้นส่วนของรถที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ
1.น้ำมันเครื่อง
ปริมาณน้ำมันเครื่องคือส่วนสำคัญในการทำงานของเครื่องยนต์ ผู้ใช้รถทุกคนสามารถดูตรวจสอบความผิดปกติของระดับน้ำมันเครื่องเองได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากการจอดรถบนพื้นราบ ไม่ให้รถเอนไปด้านใดด้านหนึ่งและสิ่งสำคัญคือจะต้องทำในเวลาที่เครื่องยนต์ยังเย็นเท่านั้น ดีที่สุดคือช่วงเช้า ก่อนสตาร์ทรถหรือหากต้องการจะวัดระดับน้ำมันเครื่องตอนที่เครื่องยนต์ยังร้อนอยู่ ก็ให้ดับเครื่องทิ้งไว้อย่างต่ำ 15-30 นาที
วิธีการเริ่มจาก เตรียมผ้าสะอาด ดึงก้านวัดน้ำมันออกมาเเช็ดก่อนครั้งหนึ่ง แล้วเสียบก้านวัดน้ำมันกลับเข้าไปที่เดิมจนสุด จากนั้นดึงก้านวัดกลับออกมาเช็คดูอีกครั้ง แล้วสังเกตว่าน้ำมันเครื่องยนต์อยู่ในระดับไหน ซึ่งโดยปกติน้ำมันเครื่องจะต้องอยู่ระหว่างตัวอักษร L กับ F ถ้าหากอยู่ในระดับเดียวกับตัว L หรือต่ำกว่านั้นให้รีบหาน้ำมันเครื่องเติมเข้าไปทันที แต่ก็อย่าให้เกินตัว F นี่เป็นเทคนิคการเช็คระดับน้ำมันเครื่องง่ายๆ ที่คุณก็สามารถทำเองได้
ระดับน้ำมันเครื่องถ้าน้อยไป อาจส่งความเสียหายใหญ่แก่เครื่องยนต์
2.แบตเตอรี่
แบตเตอรี่ก็คือหัวใจสำคัญในการทำงานของอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบาย ช่วยผลิตและป้อนกระแสไฟฟ้าให้แก่ทุกส่วนของรถ รวมไปถึงการสำรองไฟเพื่อการสตาร์ท ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหมั่นดูแล ซึ่งแบตเตอรี่มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ แบตเตอรี่แบบเปียก ที่ต้องคอยหมั่นตรวจเช็คเติมน้ำกลั่นและแบตเตอรี่แบบแห้งที่ไม่ต้องคอยเติมน้ำกลั่น เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายยิ่งขึ้นให้กับผู้ใช้รถ
3.ไส้กรองอากาศ
อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่สำคัญในการกรองสิ่งสกปรกและฝุ่นละอองไม่ให้เข้าไปในห้องเผาไหม้ เมื่อรถผ่านการใช้งานไปสักระยะ ไส้กรองจะเริ่มเกิดการสะสมอุดตัน ทำให้อากาศไม่สามารถไหลเข้าสู่ห้องเผาไหม้ได้เพียงพอ จึงมีผลให้การเผาไหม้ในห้องเครื่องยนต์ติดขัดไม่สมบูรณ์ ต้นเหตุของอาการเหยียบคันเร่งแล้วรถไม่ค่อยพุ่ง ที่หลายคนคงอาจเคยเจอ
กรองอากาศควรนำออกมาเป่าทำความสะอาดบ้าง เพื่อให้อากาศไหลสู่ท่อไอดีเต็มประสิทธิภาพ
ซึ่งโดยปกติเราควรเปลี่ยนไส้กรองอากาศทุก 10,000 กิโลเมตร หรือน้อยกว่านั้นสำหรับการขับขี่ในบริเวณที่มีฝุ่นมากเป็นประจำ
4.ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง
ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงมีหน้าที่กรองสิ่งสกปรกต่างๆหรือพวกอนูโลหะในน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ให้ปนเปื้อนหลุดเข้าไปสู่ห้องเผาไหม้ และเนื่องจากเป็นชิ้นส่วนที่มีราคาไม่แพงจึงแนะนำให้เปลี่ยนทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุกระยะ 20,000-30,000 กิโลเมตร หากละเลยที่จะเปลี่ยนแล้วล่ะก็ ค่าใช้จ่ายตอนที่เครื่องยนต์มีปัญหาจากไส้กรองอาจไม่คุ้มค่ากับการแค่เปลี่ยนไส้กรองราคาไม่กี่บาท
5.หัวเทียน
หัวเทียนถือเป็นชิ้นส่วนเล็กๆที่มีความสำคัญกับเครื่องยนต์ไม่น้อย มีหน้าที่สำคัญในการสร้างประกายไฟให้จุดระเบิดภายในห้องเผาไหม้เพื่อให้เครื่องยนต์ทำงาน ซึ่งตามปกติแล้วหัวเทียนจะมีอายุการใช้งานราวๆ 50,000 กิโลเมตร แต่ด้วยความที่มันเป็นตัวการสำคัญในการจุดระเบิดจึงทำให้หลายคนเล็งเห็นความสำคัญของหัวเทียน เมื่อต้องการเพิ่มสมรรถนะการขับขี่ของรถยนต์คู่กาย ก็จะเลือกเปลี่ยนไปใช้หัวเทียนเกรดที่คุณสมบัติเหนือกว่าที่โรงงานให้มาให้การจุดระเบิดดีขึ้นกว่าเดิม
หัวเทียนเป็นส่วนสำคัญของการสตาร์ทรถ ถ้าเครื่องติดยากหรือไม่ติดสาเหตุมาได้จากส่วนนี้
6.ใบปัดน้ำฝน
ถึงแม้จะไม่ค่อยได้ใช้งานสักเท่าไร แต่ถ้าในวันฝนพรำหรือตกหนักอุปกรณ์ชิ้นนี้คือส่วนสำคัญในการขับขี่อย่างขาดไม่ได้ เมื่อไม่ค่อยได้ใช้และต้องจอดรถตากแดดในเวลากลางวัน ความร้อนจากแสงแดดก็อาจไปทำลายตัวยางของใบปัดน้ำฝนให้เสื่อมสภาพลง ทำให้การปัดกระจกไม่ช่วยให้มองเห็นเส้นทางชัดเจนอีกต่อไป
คงไม่ต้องรอให้ถึงหน้าฝนทีค่อยนึกได้ว่าจะแก้ไข หากใบปัดน้ำฝนรถของคุณมีอาการผิดปกติเช่น มีเสียงแปลกๆจากการเสียดสีของยางกับกระจกตัวรถตอนทำงาน หรือทิ้งรอยน้ำจากการปัดไม่เกลี้ยง แค่นั้นก็ควรมองหายางปัดน้ำฝนเส้นใหม่มาเปลี่ยนได้เลย
ทั้งหมดคือส่วนของอุปกรณ์รถ ที่ทุกคันควรให้ความสำคัญ บางชิ้นละเลยไปอาจทำให้การขับขี่ไม่ราบรื่นหรือปลอดภัยได้เป็นปกติ และบางชิ้นบางอย่างถ้าละเลยไปอาจทำให้ความเสียหายรุนแรง เสียค่าซ่อมเป็นเงินจำนวนมากได้
ดูเพิ่มเติม