รถในประเทศไทยมีเยอะแค่ไหน
บนท้องถนนในประเทศไทย รถที่วิ่งรวมๆอยู่ทั้งประเทศ ตามข้อมูลการจดทะเบียนของรถที่ยังวิ่งได้ในประเทศไทยมีประมาณ 8 ล้านคัน เมื่อราวต้นปี 2018 นี่ยังไม่นับรวมรถที่ขาดการต่อทะเบียนซึ่งไม่น่าจะมีมากนัก ในบรรดา8ล้านคันนี้ ล้วนแต่ต้องขับขี่ด้วยบุคคลซึ่งผ่านการสอบใบอนุญาตขับขี่มาแล้ว ผู้ที่มีใบอนุญาตทั้งราชอาณาจักรไทยมีทั้งหมดราวๆ31ล้านคน ซึ่งรวมทุกประเภทใหญ่ๆ3ประเภทคือ ใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์, ใบอนุญาตผู้ประจำรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และใบอนุญาตขับขี่ล้อเลื่อน อย่างไรก็ตามอุบัติเหตุก็ยังมีให้เห็นทุกวัน ย้ำเลยครับว่าทุกวัน จากคำบอกเล่าของพนักงานบริษัทประกันที่ผมเคยคุยด้วย ก็บอกว่ามีการเรียกเคลมให้วิ่งไปดูหน้างานทุกวัน ทั้งที่ใบอนุญาตก็มีแล้วแต่ทำไมอุบัติเหตุยังคงเกิดขึ้นอยู่
คำตอบของคำถามข้างต้นคงไม่ได้หาคำตอบกันได้ง่ายๆและไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้อุบัติเหตุลดลงได้คือการได้รับการอบรบการขับขี่ที่ดี การขับขี่ที่ดีย่อมมาจากการอบรมสั่งสอนที่ดีจากคุณครูสอนขับรถในโรงเรียน ซึ่งประเทศไทยเรานี้โรงเรียนสอนขับรถยนต์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานและกรมการขนส่งทางบกให้การรับรองมีทั้งสิ้น จำนวน 195 แห่ง นั่นคือข้อมูลสิ้นเดือนพฤษภาคม 2018 ที่ผ่านมา ก็นับว่าพอจะกระจายอยู่ได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
แม้จะมีสนาม มีรถยนต์พร้อมแค่ไหนแต่โรงเรียนขับรถยนต์ก็ไม่สามารถสอนได้ครบทุกอย่าง
เรียนขับรถจากแหล่งต่างๆ 3 แบบ
ผู้คนที่เราเห็นขับรถยนต์โลดแล่นบนท้องถนนทุกวันนี้ สามารถขับขี่รถยนต์ได้มาจากการเรียนรู้3แบบดังต่อไปนี้
- เรียนจากโรงเรียนสอนขับรถยนต์
- เรียนจากผู้อื่นสอน (ที่ไม่ใช่โรงเรียน) เช่น พ่อ แม่ ญาติ เพื่อน เป็นผู้สอนให้
- เรียนรู้ด้วยตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็นแบบใด หากสามารถสอบผ่านการมีใบอนุญาตขับขี่ได้ก็ถือว่าเป็นบุคคลคุณภาพเพียงพอที่จะให้ออกมาโลดแล่นกับบุคคลอื่นๆเช่นกัน จากการเรียนขับรถ3แบบข้างต้น โรงเรียนสอนขับรถยนต์นับว่ามีบทบาทสำคัญเพราะมีแบบแผน มีมาตรฐานรองรับ ทำให้เป็นที่ไว้วางใจของมือใหม่หัดขับ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะสอนดีอย่างไร ก็ย่อมต้องมีบางช่วงบางตอน หรือบางมุมมองที่ไม่ได้สอน ซึ่งเป็นอะไรนั้น วันนี้เราลองมาดูกัน อาจจะมีข้อที่คุณรู้แล้ว หรือข้อที่คุณยังไม่รู้ เพราะคงไม่มีข้อไหน ที่ไม่มีโรงเรียนไหนสอนเลย (แบบนั้นระบบการสอนของการขับขี่รถยนต์ของเราต้องปรับปรุงด่วน)
เรื่องที่โรงเรียนขับรถไม่ได้สอน
- สอนขับรถไม่ได้สอนเรื่องรถ โรงเรียนสอนขับรถยนต์ จุดประสงค์หลักก็คือการสอนให้คุณขับรถเป็น ขับรถร่วมกับเพื่อนร่วมทางคนอื่นๆได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้สอนกันนักคือ หากคุณขับรถในทุกๆวัน คุณจะรู้ได้อย่างไรว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับรถรึเปล่า เรื่องพวกนี้ถ้ารถสภาพปกติดีขณะที่เรียนขับรถก็คงไม่ได้ถูกสอนกันอย่างจริงๆจังๆ แต่เมื่อถึงเวลาใช้รถจริง เสียงต่างๆ ไฟเตือนที่มิเตอร์ต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ และให้เราระวังตัวว่าควรทำอะไรต่อไป เช่น เสียงดังแปลกๆที่ปกติขับแล้วจะไม่ได้ยิน, ไฟแบตเตอรี่โชว์ที่หน้าจอมิเตอร์หมายถึงระบบแบตเตอรี่มีปัญหา หรือแม้กระทั่งกลิ่นแปลกๆที่เกิดขึ้นขณะขับรถอาจจะเป็นกลิ่นไหม้ของเบรกหรือของห้องเครื่องยนต์ เป็นต้น ซึ่งยังมีอีกมากมายหลายรูปแบบ สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของรถและครูผู้สอนมักจะผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาแล้วทั้งนั้น และเขาสามารถให้คำแนะนำได้ สิ่งหนึ่งที่ควรทำคือตรวจสอบให้แน่ชัดด้วยตนเองเท่าที่ทำได้ จากนั้นนำรถเข้าอู่หรือศูนย์บริการเพื่อเช็คอาการดังกล่าวโดยอย่าคิดเพียงว่าไม่เป็นไร
สังเกตความผิดปกติของรถทำให้ระวังป้องกันได้ทันท่วงที
- สัมภาระที่อยู่ในรถ เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไป เพราะเวลาโรงเรียนสอนขับรถยนต์สอนขับรถ รถที่ใช้เรียนก็ไม่ใช่รถของเราและก็ไม่ใช่รถของครูผู้สอนด้วย ดังนั้นสัมภาระอย่างมากก็มีแค่กระเป๋าส่วนตัวเท่านั้น ในความเป็นจริงเวลาใช้รถ สัมภาระทุกอย่างของเราจะอยู่ในรถคันที่เราขับ แต่ก็มีของบางอย่างที่ไม่ควรเก็บไว้ถาวรในรถเพื่อหลีกเลี่ยงจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นเก็บให้ห่างจากรถได้ยิ่งดีเช่น ไฟแช็ก, กระป๋องสเปรย์, แบตเตอรี่สำรองเพราะอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้เมื่อร้อนจัดและเราก็อาจจะจำเป็นต้องจอดกลางแดดร้อนๆโดยไม่ตั้งตัว หรือน้ำแข็งแห้งที่จะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจและหมดสติได้ เป็นต้น
สัมภาระในรถไม่ใช่เก็บได้ทุกอย่าง
- ทำอย่างไรตอนฉุกเฉิน เวลาเรียนจากโรงเรียนสอนขับรถยนต์ เต็มที่อันตรายสุดก็คือไปขับเอาหัวรถไปแตะรถคันหน้า เพราะว่าผู้สอนจะมีเบรกที่เท้าของเขาเอง (ที่นั่งข้างคนขับ) กรณีฉุกเฉินจึงไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าไร การสอนก็เลยอาจถูกลืมๆไป ถ้าเราขับรถทุกวันการเรียนรู้ว่าเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะรับมืออย่างไรจะลดความเสี่ยงของอัตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่นหากรถยางแตกขณะขับควรทำอย่างไร ตั้งสติ ควบคุมพวงมาลัย เปิดไฟขอทาง ขับเข้าข้างทาง เป็นต้น
รถยางแตกหนึ่งในเหตุการณ์ฉุกเฉิน
- กระจกมองหลัง กระจกมองหลังมีโหมดกลางคืนด้วย เวลากลางคืนแสงไฟจากรถด้านหลังจะแยงเข้าตาและบางครั้งแสงไฟนั้นจะจ้า (Glare) กว่าปกติจากมุมสะท้อนต่างๆของกระจก คุณสามารถดึงแท็บที่อยู่ด้านล่างเข้าหาตัวเพื่อเปลี่ยนมุมของกระจก กระจกถูกออกแบบมาให้ลดแสงจ้าได้เมื่อปรับมุมอย่างถูกต้อง นี่คือสิ่งที่เวลาเราเรียนในโรงเรียนสอนขับรถยนต์ไม่ค่อยพูดถึงกันเท่าไรเพราะคงไม่ได้มีใครไปเรียนตอนดึกๆกันมากนัก
กระจกมองหลังสามารถลดแสงจ้าของไฟหน้ารถคันหลังได้
- เปิดไฟหน้าในที่จอดรถ ที่จอดรถในอาคารมีมากมายหลายรูปแบบ ทั้งทางวิ่งของรถกว้างและแคบหรือแบบสวนกันได้ ซึ่งปกติแล้วความสว่างภายในอาคารจะมีน้อยกว่านอกอาคารในเวลากลางวัน และเพราะว่าเป็นกลางวันรถส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้เปิดไฟหน้า หรือแม้แต่รถยนต์ที่มีระบบไฟหน้าอัตโนมัติระบบไฟหน้าบางคันก็อาจจะไม่ทำงานเพราะเซนเซอร์คิดว่ามีแสงสว่างเพียงพอ ดังนั้นการขับรถในที่จอดรถในอาคารโดยเฉพาะตอนขึ้นลงทางลาดที่สวนกันได้ การเปิดไฟจะทำให้สังเกตรถคันที่กำลังสวนมาได้ง่ายตั้งแต่รถยังขับมาไม่ถึง เพราะว่าต่างฝ่ายจะเห็นลำแสงของไฟหน้าได้ในระยะไกล เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้ระดับหนึ่งแล้ว
เปิดไฟหน้ารถในที่จอดรถในอาคารช่วยเพิ่มทัศนวิสัยการมองเห็นทั้งต่อเราเองและผู้อื่น
เพื่อนๆชาว Chobrod คงเห็นแล้วนะครับว่าเรื่องบางเรื่องในโรงเรียนก็ไม่ได้สอนเพราะเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างคิดและอาจมองข้ามไป บางคนก็อาจจะเห็นว่าไม่ได้สำคัญอะไร ในความเป็นจริงก็อาจจะมีเรื่องอื่นอีกที่เล็กๆน้อยๆและไม่อาจจะสอนได้หมดในการเรียนที่โรงเรียนสอนขับรถยนต์ นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญที่เรา “คนชอบรถ” จะหาความรู้ใส่ตัวเองไปอย่างต่อเนื่องเพื่อการขับขี่อย่างปลอดภัยครับ
เพิ่มเติม
ขับรถอย่างไรให้ประหยัดน้ำมัน
7 สิ่งสำคัญในรถที่คุณควรเช็คอย่างสม่ำเสมอ