กรมธุรกิจพลังงาน ประกาศกฎข้อห้ามบริการเติมน้ำมัน หากผู้รับบริการไม่ดับเครื่องยนต์-ใช้มือถือ ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่ง พร้อมอบรมพนักงานปั๊มเพื่อศึกษาและรับทราบถึงมาตรการความปลอดภัยและคุณภาพในการบริการ
กรมธุรกิจพลังงาน ประกาศกฎข้อห้ามบริการเติมน้ำมัน หากผู้รับบริการไม่ดับเครื่องยนต์-ใช้มือถือ ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่ง พร้อมอบรมพนักงานปั๊มเพื่อศึกษาและรับทราบถึงมาตรการความปลอดภัยและคุณภาพในการบริการ
คุณวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่ง ต้องเข้มงวดในการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแก่ผู้รับบริการ โดยหากพบว่าผู้รับบริการไม่ดับเครื่องยนต์ หรือยังใช้โทรศัพท์มือถือ ห้ามสถานีให้บริการเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้รับบริการและสถานีบริการ หลังเกิดเหตุเพลิงลุกไหม้ในปั๊มแห่งหนึ่งจากการใช้โทรศัพท์ถือถือ
“กฎกระทรวงของกรมธุรกิจพลังงาน พ.ศ. 2552 ในหมวดป้องกันเกี่ยวกับการห้ามก่อประกายไฟในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงกำหนดว่า สถานีทุกแห่งต้องมีป้ายแจ้งเตือนให้ดับเครื่องยนต์ ปิดโทรศัพท์มือถือ และห้ามสูบบุหรี่ในขณะรับบริการ ในส่วนของผู้ที่เข้ามาใช้บริการจะอนุโลมไม่ต้องถึงขั้นปิดเครื่องโทรศัพท์มือถือ แต่ห้ามไม่ให้โทรออกหรือรับสายขณะใช้บริการอยู่ และหากฝ่าฝืนสถานีบริการจะมีโทษปรับ 1 แสน หรือจำคุก 1 ปี หรือทั้งจำและปรับ” คุณวิฑูรย์ กล่าว
ในวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา ประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคุณสมบัติและการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งประกาศดังกล่าวจะกำหนดให้ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันและเชื้อเพลิงทุกประเภทที่ได้รับใบอนุญาต จะต้องส่งพนักงานเข้ารับการฝึกอบรมด้านการให้บริการด้วยความปลอดภัยภายใน 2 ปี นับจากวันที่มีผลบังคับใช้ แต่หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะไม่ต่ออายุใบอนุญาต
คุณวิฑูรย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท 3.84 หมื่นแห่ง แบ่งเป็นสถานีบริการน้ำมัน 1 หมื่นแห่ง สถานีบริการปิโตรเลียมเหลว 1,988 แห่ง สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ 488 แห่ง ถังน้ำมัน (รถขนส่งน้ำมัน) 9,465 ถัง ถังก๊าซปิโตรเลียมเหลว (รถขนส่งก๊าซแอลพีจี) 1,988 ถัง ถังก๊าซธรรมชาติ (รถขนส่งก๊าซเอ็นจีวี) 1,356 ถัง และกิจการ อื่นๆ เช่น คลัง สถานที่เก็บน้ำมัน ร้านค้าจำหน่ายก๊าซแอลพีจี 1.34 หมื่นแห่ง และมีผู้ปฏิบัติงานกว่า 1 แสนคน แต่ทางกรมฯ ยังคงกังวลในด้านการฝึกอบรมพนักงานผู้ปฏิบัติการที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด เบื้องต้นอาจต้องเปิดหลักสูตรภาษานานาชาติเพื่ออบรมพนักงานกลุ่มนี้ในอนาคต
อ่านข่าวสารยานยนต์เพิ่มเติมคลิกที่นี่!