การวัดน้ำมันเครื่องดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่ต้องวัด และเติมให้ได้ระดับ แต่ในความเป็นจริงแล้วมือใหม่หัดขับหลายคน ยังคงละเลยที่จะวัด หรือทำผิดวิธี ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้เครื่องยนต์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร Chobrod เลยมีวิธีการวัดน้ำมันเครื่องที่ถูกต้องมาฝากเพื่อนๆ มือใหม่หัดขับกันค่ะ
วัดน้ำมันเครื่อง เรื่องง่ายๆ ที่มือใหม่หัดขับมักละเลย
หลายคนที่ขับรถอาจจะมองว่าการวัดน้ำมันเครื่องเป็นเรื่องง่าย และมักละเลยที่จะมองข้ามไป จากหนังสือคู่มือรถยนต์ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ให้วัดน้ำมันเครื่องหลังดับเครื่องยนต์ที่ทำงานมาแล้ว ประมาณ 1-5 นาที หรือแค่ดับสักครู่” ซึ่งหมายความว่าเราควรจะวัดน้ำมันเครื่องทุกวันหลังใช้งาน แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีคนวัดถี่ตามคู่มือ เพราะบางคนวัดแล้วไม่เห็นว่าระดับน้ำมันเครื่องจะพร่องลง จึงคิดว่าทิ้งช่วงห่างได้ อย่างไรรถก็ไม่พัง จนเกิดเป็นความสงสัยว่าจริงๆ แล้วเราควรวัดน้ำมันเครื่องด้วยความถี่เท่าไหร่ กี่วัน หรือกี่สัปดาห์ต่อการวัดหนึ่งครั้ง รวมถึงวิธีวัดที่ควรจอดทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วจึงวัด หรือวัดทันทีตามคู่มือเลยจะดีกว่ากัน แต่ก่อนที่จะไปดูวิธี และความถี่ในการวัดน้ำมันเครื่อง เราต้องรู้ก่อนว่าจริงๆ แล้ว น้ำมันเครื่องมีความสำคัญอย่างไร เพื่อที่จะได้ไม่ละเลยที่จะใส่ใจดูแลน้ำมันเครื่องกันค่ะ
แม้ว่าจะไม่ต้องวัดระดับน้ำมันเครื่องทุกวันเหมือนในอดีตแล้ว แต่ก็อย่าละเลยในการวัดระดับน้ำมันเครื่องนะคะ
น้ำมันเครื่องมีความสำคัญต่อเครื่องยนต์มาก ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่หล่อลื่น และลดการสึกหรอของเครื่องยนต์เท่านั้น แต่ยังช่วยระบายความร้อน ป้องกันสนิม ลดการกัดกร่อน ป้องกันการรั่วของกำลังอัด ทำความสะอาดเขม่าที่อุดตันในเครื่องยนต์ ฯลฯ ดังนั้นเราจึงควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพดี ในปริมาณที่เหมาะสม และถูกต้อง ที่สำคัญควรต้องตรวจวัดระดับน้ำมันเครื่อง เพื่อสังเกตความผิดปกติของเครื่องยนต์ให้ได้ง่ายที่สุด
ควรวัดระดับน้ำมันอยู่ในช่วง Min - Max เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สำหรับการวัดน้ำมันเครื่องในปัจจุบันมีความถี่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต จากที่แนะนำให้ทำประจำทุกวัน หรือ 2-3 วันต่อการวัด 1 ครั้ง มาเป็นการวัดน้ำมันสัปดาห์ละครั้ง หรืออาจเกินหนึ่งเดือน หรือบางคนก็นานกว่านั้น ซึ่งแต่ละคนก็เห็นว่าเครื่องยนต์ไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากในอดีตมักใช้วัสดุที่ทำซีลปะเก็นต่างๆ ซึ่งด้อยประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน รวมถึงความห่างของชิ้นส่วนภายใน (เคลียร์แรนซ์) จากการผลิตก็มากกว่า เครื่องยนต์ยุคเก่าจึงอาจมีการลดลงของน้ำมันเครื่องเร็ว แตกต่างจากในปัจจุบัน จะสังเกตได้จากเครื่องยนต์ยุคใหม่ถูกกำหนดให้ใช้น้ำมันเครื่องเบอร์ใสขึ้น จากความหนืด SAE ลงท้ายด้วย 40-50 กลายเป็น 30 หรือบางรุ่นในปี 2012 เป็นเบอร์ใสแค่ 20 ก็มี เครื่องยนต์ยุคเก่าเมื่อผ่านการใช้งานมาก ระดับน้ำมันเครื่องอาจลดอย่างรวดเร็ว ทั้งรั่วซึมภายนอก หรือเล็ดลอดสู่กระบอกสูบ ส่งผลให้การเผาไหม้ออกมาเป็นไอเสียที่มีควันขาว ซึ่งเป็นที่มาของคำแนะนำให้วัดน้ำมันเครื่องทุกวัน หรือ 2-3 วันครั้ง เพราะเกรงว่าเครื่องยนต์จะพัง เนื่องจากน้ำมันเครื่องขาด ไม่เพียงพอต่อการหล่อลื่น และอื่นๆ ได้
หากจะวัดระดับน้ำมันเครื่องควรวัดหลังจากดับเครื่อง 1-5 นาที หรือปล่อยให้เครื่องเย็นลงสักหน่อย แต่ไม่ต้องรอข้ามคืน
ปริมาณน้ำมันเครื่องมีผลต่อประสิทธิภาพในหลายหน้าที่ หากมีน้อยไปก็ไม่พอ หรือมากไปก็จะสิ้นเปลือง และส่งผลลบได้ โดยปริมาณที่เหมาะสมจะมา หรือน้อยก็เป็นไปตามขนาดเครื่องยนต์ ความจุกระบอกสูบ เพราะหากมีขนาดเครื่องยนต์ใหญ่ มีอากาศและเชื้อเพลิงในกระบอกสูบ พร้อมเผาผลาญเป็นพลังงานมากกว่าเครื่องยนต์เล็ก จึงย่อมต้องการประสิทธิภาพการหล่อลื่น มากกว่า การที่น้ำมันเครื่องขาดอาจส่งผลให้เครื่องยนต์พังได้ แต่ถ้าน้ำมันเครื่องเกินเพียงเล็กน้อย ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตรของก้านวัด เครื่องยนต์ก็จะไม่เกิดปัญหาอะไร แต่ระดับน้ำมันที่มากเกินไปนั้นอาจทำให้มีน้ำมันเครื่องกระเด็นไปโดนผนังกระบอกสูบมากกว่าปกติ และทำให้น้ำมันเครื่องเล็ดลอดเข้าสู่กระบอกสูบมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เมื่อเผาไหม้จะเกิดเป็นเขม่าควันขาว และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยไม่จำเป็น
สำหรับการรักษาระดับน้ำมันเครื่องควรให้อยู่ช่วงขีดล่าง-บน หรือ Min-Max ของก้านวัดเสมอ ไม่จำเป็นต้องเต็ม แต่การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องควรเติมให้ถึงขีดบน เพื่อไม่ต้องกังวลว่าจะลดต่ำกว่าขีดล่างหรือต้องวัดบ่อย ๆ ในช่วงแรกระยะห่างระหว่างขีดบน-ล่าง จะต่างประมาณ 1 ลิตร และความถี่ในการวัดระดับน้ำมันเครื่องในปัจจุบัน หากวัดทุกครั้งแล้วพบว่ามีการลดระดับอย่างช้าๆ ตามปกติ (รวม 10,000 กม. ไม่ลดจากขีดบนจนต่ำกว่าขีดล่าง หรือสัปดาห์ละ 1-2 มม.) แนะนำให้วัด 1-2 สัปดาห์/ครั้ง หรืออย่างน้อยเดือนละครั้ง ไม่จำเป็นต้องทำถี่ทุกวันแบบในอดีต
หากวัดระดับน้ำมันเครื่องแล้วรู้สึกว่าลดลงเร็ว ให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องให้มีความหนืดเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อย
นับเป็นปัญหาใหญ่ในวงกว้าง เพราะหลายคนเข้าใจผิด ปฏิบัติ หรือแนะนำอย่างผิดๆ ต่อเนื่องมายาวนาน ว่าต้องวัดน้ำมันเครื่องหลังดับเครื่องยนต์ไว้นานข้ามคืนหรือหลายชั่วโมง เพื่อให้น้ำมันเครื่องไหลกลับอ่างมากที่สุด หากวัดหลังดับเครื่องยนต์ใหม่ๆ ต้องเผื่อระดับให้เห็นว่าต่ำกว่าปกติเล็กน้อย เพราะน้ำมันเครื่องยังไหลลงไม่หมด
แต่นั่นนับเป็นความเข้าใจ และวิธีที่ผิด เพราะคู่มือประจำรถล้วนระบุให้เครื่องยนต์ทำงานจนถึงอุณหภูมิปกติแล้วดับสักครู่ ประมาณ 1-5 นาที หรือบางรุ่นระบุเป็นเลข 2, 3 และ 5 นาที อย่างชัดเจน และไม่มีระบุให้วัดน้ำมันเครื่องหลังจอดรถทิ้งไว้ข้ามคืน หรือรอนานหลายชั่วโมง โดยการวัดแบบนี้จะตรงกับความสะดวกในชีวิตจริง เพราะเมื่ออยากวัด ทั้งเจ้าของรถหรือช่างก็ทำได้ในเวลาสั้นหลังดับเครื่องยนต์ และไม่ต้องกะระดับเผื่อ เพื่อความสะดวกในการให้ช่างเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และการตรวจวัดระดับน้ำมันเครื่องที่ตรงตามความเป็นจริง
อย่าลืมตรวจเช็คน้ำมันเครื่องกันบ่อยๆ นะคะ
ในบางครั้งอาจมีรถบางรุ่นที่ให้คำแนะนำแตกต่างออกไป แต่ไม่พบว่าให้รอข้ามคืน เพราะช่างหรือผู้ใช้รถจะวัดลำบาก ดังนั้นควรเช็คคำแนะนำของรถแต่ละรุ่น และทำตามคำแนะนำของรถรุ่นนั้นๆ อีกประการหนึ่งควรวัดระดับน้ำมันเครื่องทุก 1 หรืออย่างห่างๆ ก็ 2 สัปดาห์ พร้อมสังเกตความผิดปกติของการพร่อง หากครบระยะ 10,000 กิโลเมตร และระดับน้ำมันเครื่องไม่ลดต่ำกว่าขีดล่างถือว่าอยู่ในช่วงกำลังดี แต่ถ้ามีระดับต่ำกว่านั้นต้องตรวจการรั่วซึม ถ้าไม่รั่วก็อาจพิจารณาเปลี่ยนน้ำมันเครื่องให้เป็นเบอร์ที่หนืดขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้ในการใช้งานครั้งต่อไปไม่จำเป็นต้องเติมเต็มขีดบนเสมอ หากไม่ต่ำกว่าขีดล่าง และห้ามลืมสิ่งสำคัญที่ว่าจะต้องวัดระดับน้ำมันเครื่องหลังจากเครื่องยนต์ทำงานปกติ โดยดับทิ้งไว้สักครู่ 1-5 นาทีก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องรอข้ามคืนนะคะ
ดูเพิ่มเติม
10 วิธีดูแลรถเมื่อจำเป็นต้องจอดทิ้งไว้นานๆ
10 ข้อต้องดูในส่วนของ “เครื่องยนต์” เมื่อซื้อรถมือสอง
หวังว่าเพื่อนๆ จะได้รับประโยชน์จากบทความนี้นะคะ สำหรับบทความเรื่องรถสามารถติดตามได้ที่ Chobrod.com นะคะ
ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่
ต้องการซื้อรถกระบะมือสองสภาพดี เชิญเข้าดูที่ตลาดรถตรงนี้