Toyota C-HR กับ Mazda CX-3 คันไหนดีกว่ากัน

ประสบการณ์ซื้อขายรถยนต์ | 9 ก.ค 2561
แชร์ 16

Sports Activity Cars ที่มากับทางเลือกในการใช้งานหลากหลาย เพิ่มขึ้นด้วยความนิยมจากผู้ใช้ยุคนี้ คงหนีไม่พ้นรถในประเภท Crossover กับการแข่งกันสุดมันส์ เพื่อหวังเป็นคำตอบสุดท้ายของผู้ใช้ และกับ Toyota C-HR กับ Mazda CX-3 ก็ถือเป็นคู่แข่งกันแบบตรงคลาส พร้อมทางเลือกขุมกำลังที่ต่างจากรถทั่วไปบนถนน แม้ในฝ่ายหลังชื่อชั้นอาจจะดูเสียเปรียบในเรื่องแบรนด์ แต่มีอะไรบ้างที่จะมาช่วยเติมเต็มให้พอเทียบกับเจ้าตลาดได้ หรือจะเป็นได้แค่ “ทางเลือก” หนึ่งของผู้ที่ชอบความต่างเท่านั้นหรือ

 Toyota C-HR กับ Mazda CX-3 คันไหนดีกว่ากัน


Toyota C-HR กับ Mazda CX-3 คันไหนดีกว่ากัน

ว่าด้วยการเปรียบเทียบสองรุ่นครอสโอเวอร์น้ำดีของเมืองไทย Toyota C-HR กับ Mazda CX-3 เทียบกันตามราคาเกรดสูงสุดที่แต่ละรุ่นให้มา ฝั่งของ Toyota C-HR ที่ชื่อชั้นคงไม่ต้องเอ่ยชมอะไรกันมาก จากความสำเร็จที่ได้รับมาทั่วโลก สู่เมืองไทยเมื่อช่วงปลายปี 2017 พร้อมทางเลือกที่มีขุมกำลังแบบไฮบริดมาให้ และในทันทีที่เริ่มปล่อยรถสู่มือผู้จับจอง ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็น “รุ่นใหญ่” ในคลาส คว้าอันดับหนึ่งมาครองได้ในทันที เขี่ยอันดับหนึ่งที่ผูกขาดเจ้าตลาดรถในคลาสนี้อย่าง Honda HR-V ลงไปแบบไม่เห็นหัว 

ดูเพิ่มเติม
>> 
ราคา Mazda CX-3
>> ราคา โตโยต้าซี-เอชอาร์ Toyota C-HR 


 


 ตัวท็อป ราคาเกินล้านทั้งคู่ เมื่อเค้นถึงรายละเอียดจะเป็นฝั่งไหน ที่เข้าวินต้องติดตาม

ส่วนอีกฝั่งที่ทำตลาดมาตั้งแต่ 2015 อย่าง Mazda CX-3 แม้ว่าตามคาดหวังของค่าย มันคือคู่ต่อกรที่เจนจัดกับ Honda HR-V ครั้งเมื่อ Toyota C-HR ยังไม่มา แต่ทว่าความนิยมกลับน้อยนิด เทียบไม่ได้เลยแม้กระทั้งครอสโอเวอร์รุ่นรอง 7 เบาะของค่าย Honda อย่าง BR-V ยังขายดีกว่าด้วยซ้ำ เป็นแค่ทางเลือกหนึ่งของรถในแบบครอสโอวเวอร์ สำหรับคนที่ถูกจริตกับรุ่นนี้จริงๆ ซึ่งอาจมีไม่มากพอเมื่อเทียบยอดขายของรุ่นเจ้าตลาด อีกทั้งยิ่งการมาของ MG ZS ยิ่งทำให้การมีตัวตนอยู่ของ Mazda CX-3 ดูจางๆ ลงหนักไปอีก จึงเป็นที่มาของการไมเนอร์เชนจ์ของรุ่นนี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นานที่จะถึง 
 
ทดเรื่องการเปิดตัวไมเนอร์เชนจ์เอาไว้ก่อน มาดูการเปรียบเทียบของสองรุ่นครอสโอเวอร์นี้กันระหว่าง Toyota C-HR กับ Mazda CX-3 คลาสเดียวกัน ไซส์เดียวกัน คันไหนที่จะเป็นคำตอบของคนรุ่นใหม่ ใช่ทั้งการใช้งานในเมือง ใช่ทั้งขับเที่ยวทางไกลออกต่างจังหวัด ด้วยออพชั่นที่ทั้งคู่ต่างอัดแน่น ประเภทที่เรียกได้ว่าสูงสุดของรถเมืองไทยยุคนี้จะสามารถให้มาได้ คำตอบสุดท้ายจะเป็นคันไหน Chobrod จะพาคุณไปชมกัน
 
1.เปิดราคา Toyota C-HR กับ Mazda CX-3 
มาดูกันที่เรื่องราคากันก่อน ความโดดเด่นของตัวท็อปที่แต่ละฝั่งให้มานั้นแตกต่างกัน ฝั่งของ C-HR มากับทางเลือกที่เป็นแบบเครื่องยนต์กึ่งไฟฟ้าช่วยขับ Hybrid ผสมเครื่องยนต์ 1.8L กับรุ่นย่อย HV High ส่วนฝั่งของ CX-3 ก็แตกต่างด้วยการนำเครื่องยนต์ดีเซล มาสถิตไว้กับรุ่นย่อย 1.5 XDL ไปดูราคากันเลยว่าแต่ละรุ่นจะแตกต่างกันเท่าไรบ้าง
Toyota C-HR HV High ราคา 1,159,000 บาท
Mazda CX-3 1.5 XDL ราคา 1,193,000 บาท 
 
สำหรับในฝั่งของ CX-3 ที่ราคาแพงกว่า C-HR “เกือบสี่หมื่น” อะไรที่ทำให้มวยรองอย่าง Mazda CX-3 มีราคาแพงกว่าจนเจ้าตลาด Toyota C-HR ที่ขนาดมากับเทคโนโลยีไฮบริด เพิ่มมอเตอร์ช่วยขับเคลื่อนแล้วยังแพงไม่เท่า หรือ Toyota C-HR ซึ่งเปิดตัวทีหลัง หวังใช้ตัวเลขราคาเพื่อดึงความสนใจจากผู้ซื้อตอบเซย์ “เยส” ไปดูรายละเอียดในด้านต่างๆ กันเลยดีกว่าของทั้งสองรุ่นครอสโอเวอร์นี้ Toyota C-HR กับ Mazda CX-3
 
2.เปรียบเทียบภายนอก Toyota C-HR กับ Mazda CX-3
Toyota C-HR
C-HR ที่มาจากคำว่า “Coupe High Rider” ภายใต้แนวคิดการออกแบบ “Ever-better Cars ยนตกรรมที่ดีกว่า” ภายนอกที่ถูกดีไซน์จนมาเป็น C-HR เรียกได้ว่าฉีกความเป็นรถที่มาจาก Toyota แบบสุดขั้ว สปอร์ตโฉบเฉี่ยวกว่ารุ่นอื่นๆ กับโครงสร้าง TNGA ของค่าย กระจังหน้าที่ออกแบบมาได้ลงตัวกับโคมไฟหน้าขนาดใหญ่ที่เป็นแบบ Projector Full LED ไฟเลี้ยวแบบ Sequential และมีไฟ LED Daytime มาให้ครบในโคม และไฟตัดหมอกเพิ่มอีกที่ด้านล่าง เมื่อมองที่ด้านข้างจะเห็นมิติเส้นสาย ส่วนว้าวโค้งช่วยทำให้ตัวรถดูน่าค้นหายิ่งขึ้น หลังคาแบบลาดลงจากด้านหน้า เสริมความสปอร์ตให้กับตัวรถสมกับคำว่า Coupe และกับรุ่นไฮบริดก็จะได้สีหลังคามาเป็นสีดำเงา แยกชัดเจนสวยงามยิ่งกว่า ไฟท้ายเป็นแบบ Full LED รมดำ ดูลงตัวเมื่อมากับสปอยเลอร์หลังพร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED ส่วนล้อทั้งสี่ใช้เป็นขนาด 17 นิ้ว
 


 C-HR ล้ำสมัยด้วยดีไซน์ ที่แตกต่าง โดดเด่นกว่ารถในค่าย Toyota เอง จนโดนใจคนทั่วโลก

Mazda CX-3 
เช่นเดิมกับนิยามการออกแบบของรถ Mazda ยุคนี้ Zoom-Zoom ที่เน้นความโฉบเฉี่ยวมากกว่าในแบบ Freestyle Crossover กับกระจังหน้าแบบ Signature Wing พร้อมกรอบโครเมี่ยมเด่นชัดตามสไตล์ KODO Design ไฟหน้า Projector แบบ LED พร้อมไฟ LED Daytime ไฟตัดหมอกหน้าที่ถูกออกแบบมาได้เข้ากับกันชน ด้วยตัวรถที่มาจากพื้นฐานเดียวกับ Mazda2 จึงไม่แปลกกับอารมณ์ที่ออกมาของรุ่นนี้ จะได้ไม่ต่างกับรุ่นร่วมค่าย แต่ถูกเปลี่ยนล้อ ยกสูง พร้อมกับเพิ่มความโฉบเฉี่ยวขึ้นอีกหน่อย ไฟท้ายเป็นแบบ LED สวยเร้าใจไม่ต่างกับไฟหน้า พร้อมล้อที่ใช้จะเป็นขนาด 18 นิ้ว 
 
 


ต่อยอดจาก Mazda2 สู่การเป็นครอสโอเวอร์เนื้อดี ที่น่าขับอีกหนึ่งรุ่นในไทยสำหรับ CX-3
 
เปรียบมิติของ Toyota C-HR กับ Mazda CX-3
  • ความยาวตัวถัง (mm.) :: C-HR(4,360), CX-3(4,275)
  • ความกว้างตัวถัง (mm.) :: C-HR(1,795), CX-3(1,765)
  • ความสูงตัวถัง (mm.) :: C-HR(1,550), CX-3(1,550)
  • ระยะฐานล้อ (mm.) :: C-HR(2,640), CX-3(2,610)
ถือว่ามาในแนวเดียวกันกับนิยามการออกแบบที่เน้นในเรื่องของความสปอร์ตโฉบเฉี่ยว พาให้ผู้พบเจอต้องเหลียวตามทั้งคู่ในความสวย น่าเสียดายไปหนึ่งอย่างสำหรับ C-HR ที่เวอร์ชั่นขายในไทย กลับไม่ให้ล้อขนาด 18 นิ้วมาเหมือนเมืองนอก จะยิ่งช่วยทำให้รถดูดี ล้อเต็มซุ้ม ลงตัวยิ่งขึ้น ส่วนฝั่ง CX-3 นั้น ถือว่าต่อยอดจากความเป็น Mazda2 ไปสู่ความสวยอีกระดับได้เป็นอย่างดี สรุปรวมในเรื่องของภายนอก สวยไม่แพ้กันให้คะแนนเสมอกันไปในเรื่องนี้ ชอบแนวไหนคันไหน เลือกกันได้เลย 
 
3.เปรียบเทียบภายใน Toyota C-HR กับ Mazda CX-3
Toyota C-HR 
กับการออกแบบที่ล้ำสมัยไม่แพ้ภายนอก จากเส้นสายที่ต่อเนื่องถึงกันหมดตั้งแต่ แผงประตูฝั่งถึงอีกฝั่ง หน้าจอสัมผัส Infotainment แยกตั้งให้อารมณ์แบบรถยุโรปมาขนาด 7 นิ้ว ก็ถูกออกแบบมาเพื่อเข้ากับดีไซน์คอนโซล ที่มากับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ Toyota T-Connect Telematics ให้รถชาญฉลาดขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับ Samrt Phone มองต่ำลงมาที่ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบปรับดิจิตอล Dual-zone เบาะหน้าทรงสปอร์ตพร้อมกับนิยามความกระชับที่มากกว่า เบาะหลังพับปรับได้แบบ 60/40 มาตรวัดเรืองแสงแสดงข้อมูลการขับขี่ขนาด 4.2 นิ้ว ส่วนพวงมาลัยแน่นอนว่าเป็นแบบมัลติฟังก์ชั่นที่ดีไซน์อาจดูล้ำ “น้อยไปหน่อย” เมื่อเทียบกับการออกแบบส่วนอื่นๆ ของภายใน แต่ก็ยังพอไปได้อยู่ ไม่ดูล้าหลังจนเกินไปนัก 
 

 ภายใน เน้นความ ล้ำ แบบรถในอนาคตด้วยดีไซน์แดชบอร์ด เบาะทรงสปอร์ต อุปกรณ์ครบครัน

 
อุปกรณ์ที่น่าสนใจภายในห้องโดยสาร Toyota C-HR 
  • ภายในห้องโดยสารสีทูโทน (ดำและน้ำตาล)
  • เบาะนั่งคู่หน้าแบบสปอร์ต เบาะนั่งหุ้มด้วยหนังสีดำ พร้อมปุ่มปรับดันหลังไฟฟ้า Lumbar Support ในฝั่งคนขับ
  • กระจกมองหลังแบบปรับลดแสงอัตโนมัติ (Electro Chromic)
  • ไฟส่องสว่างบริเวณประตูหน้าและที่วางแก้วน้ำ
  • ที่ปัดน้ำฝนแบบหน่วงเวลาและปรับตั้งเวลาได้
  • มาตรวัดพร้อมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบสี TFT ขนาด 4.2 นิ้ว
  • พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น : ควบคุมหน้าจอ MID, เครื่องเสียง
  • ระบบ Auto Brake Hold
  • โหมดการขับขี่ Sport และ ECO Mode และ EV Mode
  • ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ แยกอิสระซ้าย-ขวา Dual Zone
  • ระบบกรองอากาศภายในห้องโดยสาร Nanoe
  • เครื่องเสียงระบบสัมผัส ขนาด 7 นิ้ว พร้อมรองรับ วิทยุ AM FM CD MP3 DVD
  • รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth, USB, HDMI, SD Card
  • ลำโพง 6 ตำแหน่ง
  • ระบบสตาร์ทอัจฉริยะ Push Start และระบบเปิดประตูอัจฉริยะ Smart Entry
Mazda CX-3
หน้าตาของห้องโดยสารที่อาจจะคุ้นๆ กันสักหน่อย เพราะถูกยกมาแทบจะทั้งหมดของความเป็น Mazda2 ซึ่งยังคงไว้ด้วยความสวยลงตัว และความพยายามใช้วัสดุที่เป็นหนังเข้ามาช่วยในการตกแต่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งอารมณ์เทียบรถยุโรปมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงอีกความโดดเด่นที่คุณจะได้รับในรถของ Mazda เท่านั้นกับ Center Commander ปุ่มหมุนสั่งการ สำหรับใช้งานกับ MZD Connect ได้สะดวกยิ่งขึ้น และ Active Driving Display จอใสๆ บนสุดเหนือมาตรวัด แสดงข้อมูลการขับขี่ในระดับสายตา ทั้งข้อมูลความเร็ว, ระบบนำทาง ซึ่งถือเป็นลูกเล่นที่แตกต่างต่างรุ่นอื่นๆ ในคลาส เอกลักษณ์เด่นที่มีแต่ใน Mazda CX-3 เท่านั้นมีมาให้
 
อุปกรณ์ที่น่าสนใจภายในห้องโดยสาร Mazda CX-3
  • ระบบปัดน้ำฝนกระจกบังลมหน้าแบบอัตโนมัติ
  • กุญแจอัจฉริยะ Smart Keyless Entry
  • ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ Push Start Button
  • ระบบควบคุมการเปลียนเกียร์ที่พวงมาลัย Sport Paddle Shift
  • ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ
  • แผงแดชบอร์ดหน้าบุนุ่มด้วยหนังสีดำเดินด้ายสีแดง และวัสดุตกแต่งสีเงินวาว 
  • เบาะนั่งหุ้มด้วยหนังสีดำสลับด้วยผ้า-หนังกลับ Lux Suede สีดำ เดินด้ายสีแดง
  • มาตรวัดรอบเครื่องยนต์แบบ Analog พร้อมหน้าจอ Active Driving Display
  • จอ MID แสดงข้อมูลการขับขี่
  • พวงมาลัยหุ้มด้วยหนังตกแต่งด้วยลายคาร์บอนและวัสดุสีเงินวาว พร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียง
  • หัวเกียร์และเบรกมือหุ้มด้วยหนัง
  • สวิตซ์ Drive Selection (ปุ่ม Sport ที่คันเกียร์)
  • ระบบเครื่องเสียงหน้าจอสี Center Display ขนาด 7 นิ้วพร้อมปุ่ม Center Commander
  • รองรับการเชื่อมต่อ AUX, USB, SD Card (สำหรับ Navigation System) 
  • ระบบนำทาง Navigation System
  • ลำโพง 6 ตำแหน่ง
 
CX-3 เน้นความโฉบเฉี่ยวที่ดีไซน์ กับลูกเล่นอุปกรณ์พิเศษ หลายอย่างที่มีแต่ในรถของ Mazda 

 
การออกแบบเรื่องดีไซน์ส่วนของภายใน ถือว่าสปอร์ต สวย ลงตัวทั้งคู่ ส่วนของเล่นที่ให้มาถือว่าสูสีกันไม่น้อย เลือกยากจริงๆ สำหรับสองรุ่นนี้ ถ้าเลือก C-HR ก็จะไม่ได้ จอใสๆ Active Driving Display และปุ่มหมุน Center Commander, ระบบเปลียนเกียร์ที่พวงมาลัย Sport Paddle Shift มันส์ๆ ที่มีอยู่ใน CX-3 แต่ถ้าเลือก CX-3 ก็จะไม่ได้ ระบบกรองอากาศภายในห้องโดยสาร Nanoe, เบรกมือไฟฟ้า, โหมดการขับขี่ Sport และ ECO Mode และ EV Mode ที่จะมีอยู่ในฝั่งของ C-HR เท่านั้น แต่ในเงื่อนไขที่ Mazda CX-3 แพงกว่าเกือบสี่หมื่นบาท มองแต่ส่วนของภายในอย่างเดียวที่ออพชั่นกลับไม่ต่างกันนัก ยกนี้จึงต้องให้ Toyota C-HR เป็นฝ่ายชนะไปในราคาที่ประหยัดกว่า แต่ของที่ให้มานั้นสูสี 
 
4.เปรียบเทียบเครื่องยนต์ Toyota C-HR กับ Mazda CX-3 
Toyota C-HR 
ที่ในตัวท็อปซึ่งเป็นรุ่นไฮบริด ขุมกำลังลูกผสมระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า กับเครื่องยนต์รหัส 2ZR-FXE DOHC 4 สูบ DOHC Atkinson Cycle 16 วาล์ว VVT-i ขนาด 1.8L ให้กำลังสูงสุดอยู่ที่ 98 แรงม้า พร้อมแรงบิดอยู่ที่ 142 Nm ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet Synchronous Motor ให้กำลังม้าอยู่ที่ 72 แรงม้า กับแรงบิดที่ 163 Nm รวมแรงม้าจากเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้าจะให้กำลังสูงสุดอยู่ที่ 122 แรงม้า ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ E-CVT รองรับการใช้น้ำมันสูงสุดประเภท E20 อัตราการสิ้นเปลืองบน Eco Sticker ที่สภาวะรวมอยู่ที่ 24.4 กิโลเมตรต่อลิตร  
 



 

Eco Sticker การันตีความประหยัด จากขุมกำลังไฮบริดของ C-HR ไว้ที่ 24.4 กิโลเมตร/ลิตร
Mazda CX-3
ส่วนทางฝั่งของก็มากับความโดดเด่นที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล Skyactiv-D ขนาด 1.5L 4 สูบแถวเรียง พร้อมฝูงม้าในคอก 105 ตัว กับแรงบิดโหดๆ ตามสไตล์เครื่องยนต์ดีเซลที่ 270 Nm จับคู่การทำงานกับเกียร์อัตโนมัติ 6 Speed พร้อม Manual Mode การันตีความประหยัดจาก Eco Sticker ในสภาวะรวมให้ไว้อยู่ที่ 23.3 กิโลเมตรต่อลิตร 
 




ส่วน CX-3 กับเครื่องดีเซลประหยัดอยู่ที่ 23.3 กิโลเมตร/ลิตร
เปรียบเทียบสมรรถนะของ Toyota C-HR กับ Mazda CX-3
  • น้ำหนักตัวรถ (กิโลกรัม) : C-HR(1460), CX-3(1270)
  • อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (วินาที) : C-HR(11), CX-3(11.7)
  • Top Speed (กิโลเมตรต่อชั่วโมง) : C-HR(170), CX-3(177)
  • อัตราการสิ้นเปลืองบน Eco Sticker (กิโลเมตรต่อลิตร) : C-HR(24.4), CX-3(23.3)
ในหัวข้อนี้สำหรับใครที่กำลังเลือกระหว่างสองรุ่นนี้อยู่ ในด้านขุมกำลังน่าจะช่วยในการตัดสินใจ ตอบตัวเองได้ง่ายขึ้น ใครใคร่สัมผัสในเรื่องเทคโนโลยียานยนต์ยุคหน้า กึ่งไฟฟ้ากึ่งน้ำมันเพื่อเข้ามาช่วยในเรื่องความประหยัด ต้องมองไปที่ Toyota C-HR แต่อีกทางเลือกก็น่าสนใจเช่นกัน กับเครื่องยนต์ในแบบดีเซล ที่ความประหยัด มั่นใจได้อยู่แล้ว และไหนจะเรื่องความทนทานของตัวเครื่องในประเภทนี้มีมาให้มากกว่าเครื่องยนต์เบนซิน Mazda (แม้ข่าวของเครื่องดีเซลของค่ายนี้จะไม่ค่อยดีนัก) อิงตามสมัยนิยมของของการพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซล ให้เหมาะสมกับรถยุคนี้ได้เป็นอย่างดี ยกนี้ต้องตามแต่ชอบว่าแนวไหนเหมาะกับคุณ ให้คะแนนเป็นเสมอกันไป 
 
5.เปรียบเทียบความปลอดภัย Toyota C-HR กับ Mazda CX-3
Toyota C-HR
การมาของระบบความปลอดภัยที่มีการใช้ Radar และกล้องเข้ามาช่วยในการป้องกัน และลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุใน Toyota C-HR กับระบบความปลอดภัย TOYOTA SAFETY SENSE ซึ่งถือเป็นรุ่นแรกๆ ของค่าย สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับสาวกค่ายสามห่วงได้ไม่น้อย (แม้ค่ายอื่นๆ จะมีออกมาหลายๆ รุ่นแล้วก็ตาม) แต่ถ้าเทียบเฉพาะค่ายเดียวกัน C-HR กับระบบความปลอดภัยนี้ถือว่าอยู่ในระดับสุดได้เลย โดยความปลอดภัยใน C-HR ที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้ 
  • ถุงลมนิรภัย 7 จุด (คู่หน้า, ด้านข้างคู่หน้า, ม่านถุงลม, เข่าคนขับ)
  • ระบบช่วยเตือนและเบรกอัตโนมัติ Pre-Collision System 
  • ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน พร้อมหน่วงพวงมาลัยอัตโนมัติ Lane Departure Warning With Steering Assist
  • ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตาที่กระจกมองข้าง Blind Spot Monitoring
  • ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถตัดผ่านขณะถอยหลัง Rear Cross Traffic Alert
  • ระบบเตือนเมื่อผู้ขับขี่มีอาการเหนื่อยล้า Driver Assist Alert
  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน Dynamic Radar Cruise Control
  • สัญญาณเตือนการโจรกรรม TDS


 C-HR กับถุงลมแน่นๆ ห้องโดยสารถึง 7 ใบ พร้อมความปลอดภัย Active Safety ของค่าย

Mazda CX-3
ฝั่งนี้ก็ไม่น้อยหน้า และมีมาก่อนด้วยสำหรับระบบความปลอดภัย Active Safety ที่ Mazda ใช้ชื่อเรียกว่า i-ACTIVSENSE ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยอันเป็นที่ยอมรับจากผู้ใช้งานทั่วโลก สู่ถนนเมืองไทย เช่นกันที่ใช้ Radar และกล้องเข้ามาเพื่อป้องกัน และลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ ไปดูกันเลยสำหรับความปลอดภัยของรุ่นนี้มีอะไรดี น่าสนใจบ้าง 
  • ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติ SCBS (Smart City Brake Support)
  • ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ SRS (Smart Brake Support)
  • ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง SCBS-R (Smart City Brake Support-Reverse) 
  • ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน LDWS (Lane Departure Warning System)
  • ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ABSM (Advanced Blind Spot Monitoring) 
  • ระบบช่วยเตือนเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ DAA (Driver Attention Alert)
  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ MRCC (Mazda Radar Cruise Control)
  • ระบบช่วยเตือนเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ DAA (Driver Attention Alert)


 i-ACTIVSENSE ความปลอดภัยเหนือระดับ รอบคันก็มีเช่นกันใน CX-3

จัดมาให้เต็มทั้งคู่ เหมาะกับการเป็นมวยถูกคู่เสียจริงๆ ในเรื่องระบบความปลอดภัย ที่ C-HR อาจดูได้เปรียบกว่าเล็กๆ ในเรื่องของจำนวนถุงลมที่มากกว่าอยู่ใบ หลักๆ แล้วในเรื่องของ Active Safety ถือว่าสูสีกันเป็นอย่างมาก แต่ด้วยเรื่องราคาที่ CX-3 แพงกว่าอีกเช่นเดิม จึงทำให้ยกนี้เป็น Toyota C-HR ที่เข้าวินไปอีกหนึ่งยก 
 
 
สรุปเปรียบเทียบในทุกด้าน Toyota C-HR กับ Mazda CX-3 ซื้อคันไหนดี?
ถ้าตัดออกไปในเรื่องของความเป็นแบรนด์ใหญ่ แบรนด์เล็ก และเรื่องขุมกำลัง เน้นในเรื่องอุปกรณ์ที่ให้มาล้วนๆ ทั้งสองรุ่นให้มาค่อนข้างสูสีกัน ถือเป็นมวยถูกคู่ที่คาดเดาลำบาก ว่าใครจะคว้าชัยเมื่อขึ้นเวที หรือเปรียบเป็นฟุตบอลตามกระแสช่วงนี้หน่อยก็รัสเซียเจอกับโครเอเชียชัดๆ จะตัดสินว่าใครชนะอาจต้องลุ้นกันไปถึงจุดโทษ และการตัดสินแพ้ชนะได้ ย่อมมีบางสิ่งเล็กๆ ที่แตกต่างเท่านั้น ถึงจะช่วยตัดสินได้ ตัดไปซึ่งเรื่องดีไซน์ที่ประเมินค่าไม่ได้ ตามใจแต่ละคนชอบ, เครื่องยนต์ก็เช่นกันที่มากันสองแบบสองสไตล์ มองแต่เรื่องอุปกรณ์ที่ให้มาล้วนๆ แล้ว
 


 แตกต่างเล็กน้อยที่ออพชั่น แต่บางอย่างที่ควรจะมีก็ขาดไป สำหรับ CX-3 แต่ C-HR ครบกว่า

ซึ่งกับรถราคาขึ้นล้านบาทอย่าง Mazda CX-3 ที่เกือบจะดีอยู่แล้วเชียว แต่ในเรื่องภายในกลับมาตกม้าตาย ใช่ด้วยเรื่องดีไซน์ไม่ แต่เป็นเรื่องของ “เบรกมือ” ยังเป็นแบบคันโยกอยู่เลย! นี่รถราคาหลักล้านนะ แต่ละรุ่นเขาไปใช้เบรกมือไฟฟ้าพร้อมระบบ Auto Brake Hold กันหมดแล้ว ช่วยเบรกตอนรถติดๆ ไม่เมื่อยเท้า แต่ CX-3 ที่ขายความเป็นรถในเมืองแท้ๆ แต่กลับไม่มีมาให้นี่สิ ทำให้รู้สึกขัดแย้งอย่างบอกไม่ถูก แต่ยังมีบางจุดที่น่าสนใจกว่า C-HR เช่น ระบบเปลียนเกียร์ที่พวงมาลัย Sport Paddle Shift, Active Driving Display แต่มันคุ้มหรือไม่ กับการต้องจ่ายแพงกว่า? สำหรับค่าตัวของ Mazda CX-3 
*** ดูเพิ่มเติมราคา มาสด้า cx3 2020 มือสองที่มีขายในประเทศไทย


 บางอย่างที่ขาดไปของ C-HR ก็มีอุปกรณ์ที่ทดแทนได้ รวมถึงราคาที่น่าคบกว่า

หรือจะได้ครบๆ แบบพร้อมๆ Paddle Shift ไม่มีแต่ทดแทนด้วยโหมดการขับขี่ Sport ได้ จอ Active Driving Display ไม่มีแต่มีระบบ T-Connect ที่ทำให้รถดูฉลาดขึ้นยิ่งกว่า ตรงทุกคำนิยามในการเป็นครอสโอเวอร์ที่ใช้ในเมืองได้สะดวก วิ่งไกลก็สบาย แถมราคาค่าตัวประหยัดกว่าอย่าง Toyota C-HR สรุปรวมในคำถามว่าระหว่างสองรุ่นนี้ Toyota C-HR กับ Mazda CX-3 ซื้อคันไหนดี? คำตอบคือ Toyota C-HR คือฝ่ายที่น่าซื้อกว่า 
 
ไว้ข้อมูลนี้เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจกัน ว่าครอสโอเวอร์ที่คุณจะซื้อคันต่อไป ควรเป็นรุ่นไหน ทั้งนี้ทั้งนั้นในบทความนี้ ยังไม่ได้อิงถึงข้อมูลของศูนย์บริการ บริการหลังการขายแต่อย่างใด มั่นใจค่ายไหนก็ต้องเป็นคุณเองที่เป็นคนตัดสินใจ แล้วอย่าลืมบอกกับเรา Chobrod สักหน่อย ว่าสำหรับคุณแล้ว สองรุ่นนี้คุณจะเลือกคันไหน และเพราะอะไร ที่คอมเม้นท์ด้านล่างนี้ได้เลย   
แท็ก Mazda CX-3