จากจุดเริ่มต้น จนถึงวันนี้ Honda City ไทยเปลี่ยนไปขนาดไหน

ประสบการณ์ซื้อขายรถยนต์ | 13 ม.ค 2564
แชร์ 25

รถราคาประหยัด ซิตี้คาร์ อีโคคาร์ รถพลังงานไฟฟ้า Honda City ที่คนไทยรู้จักเป็นรถแบบไหนกันแน่ แต่ถ้าลองย้อนดูอดีตถึงปัจจุบันจะพบว่า Honda City เป็นทุกอย่างให้แล้ว

จากจุดเริ่มต้นภายใต้โครงการพัฒนารถยนต์ราคาประหยัดหรือ Affordable Family Car ของไทย ทำให้ Honda ตัดสินใจหยิบชื่อ City กลับมาใช้อีกครั้ง สำหรับโปรเจกต์ Honda City เวอร์ชั่นไทย แต่การแข่งขัน ความนิยมและความต้องการที่มากขึ้น City ก็ไม่ได้อยู่ในสถานะรถราคาถูกอีก ซึ่งในวันนี้ City พยายามเปลี่ยนแปลง Position ตัวเองอีกครั้ง สู่การเป็นซิตี้คาร์ ภายใต้โครงการอีโคคาร์ ราคาไม่ประหยัด แต่ได้รับความนิยมล้นหลาม

Honda City เจเนอเรชั่นที่ 1 : รถที่ทุกบ้านเป็นเจ้าของได้

Honda City เจเนอเรชั่นที่ 1

 Honda City เจเนอเรชั่นที่ 1

หลังจาก Honda ตัดสินใจยุติไลน์อัพ City ในญี่ปุ่น เมื่อปี 1993 ประเทศไทยได้มีแนวคิดปั้นรถยนต์แห่งชาติ (โดยไม่ต้องมีแบรนด์รถยนต์ของตัวเอง แต่ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่) ภายใต้โครงการ พัฒนารถยนต์ราคาประหยัดหรือ Affordable Family Car เพื่อให้เป็น Product Champion นำโดยสองค่ายใหญ่ที่คุณก็รู้ว่าใคร นั่นคือ Toyota และ Honda

Honda City เจนเนอเรชั่น 2 ของญี่ปุ่นก่อนยุติการผลิต
Honda City เจนเนอเรชั่น 2 ของญี่ปุ่นก่อนยุติการผลิต

แต่ Honda ชิงเปิดตัว Honda City ก่อน ช่วงต้นปี 1996 รูปแบบตัวถัง 4 ประตู ซีดาน ดีไซน์เรียบง่าย ไร้ลูกเล่น เน้นประหยัดต้นทุน โดยใช้ชิ้นส่วนอะไหล่หลายรายการร่วมกับ Civic รหัส EF (ซึ่งตอนนั้นตกรุ่นไปนานแล้ว) การตกแต่งได้แค่เบาะกำมะหยี่ก็หรูมากแล้ว ส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบความปลอดภัยยุคนั้นยังน้อยมาก จึงดูแลง่าย

ผ้ากำมะหยี่ให้สัมผัสฟูนุ่มได้ดีกว่าเบาะผ้าส่วนใหญ่สมัยนี้มาก
ผ้ากำมะหยี่ให้สัมผัสฟูนุ่มได้ดีกว่าเบาะผ้าส่วนใหญ่สมัยนี้มาก

ส่วนเครื่องยนต์ Honda City ช่วงแรกเป็นเบนซิน แบบ 4 สูบ ขนาด 1.3 ลิตร SOHC 16 วาล์ว ไม่มี VTEC อะไรเลย จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด PGM-FI เค้นกำลังออกมาได้สูงสุด 95 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 119 นิวตันเมตร มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และอัตโนมัติ 4 สปีด

Toyota Soluna ดีไซน์ไม่ว้าว เอา Toyota Tercel ต้นยุค 90 มาปรับขายเหมือนกัน
Toyota Soluna ดีไซน์ไม่ว้าว เอา Toyota Tercel ต้นยุค 90 มาปรับขายเหมือนกัน

ต่อมาปี 1997 Honda City ได้เพิ่มรุ่นขนาดความจุ 1.5 ลิตร รับมือ Toyota Soluna ที่เพิ่งเปิดตัวด้วยเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร โดยกำลังสูงสุดเพิ่มเป็น 105 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 134 นิวตันเมตร

Honda City Type Z ปรับดีไซน์ให้เปรี้ยวขึ้น
Honda City Type Z ปรับดีไซน์ให้เปรี้ยวขึ้น

หลังจากนั้นในปี 1999 Honda ตัดสินใจเทเครื่องยนต์ 1.3 ลิตร ทิ้ง เหลือไว้เพียง ขนาด 1.5 ลิตร ตอนปรับโฉมเป็น City Type Z ที่เปรี้ยวขึ้น ภายในสีเบจหรูหรา (ตอนนั้นกำลังฮิต) พร้อมเพิ่มรุ่นย่อย VTi ใส่วาล์วมหัศจรรย์ VTEC ได้กำลังสูงสุด 115 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 140 นิวตันเมตร มาถึงตอนนี้ City ที่เคยเป็นรถราคาประหยัด เริ่มจะไม่ประหยัดอีกต่อไปแล้ว

Honda City เจเนอเรชั่นที่ 2 : โฉมอุทัยเทวี มีเบาะ Ultra Seat

Honda City มือสอง

จาก City ระดับ OTOP เพื่อคนไทยและขายละแวกใกล้เคียง มาในเจเนอเรชั่นที่ 2 Honda City เริ่มมีแนวคิดเปลี่ยนไป จากซิตี้คาร์ระดับอำเภอกลายเป็นซิตี้คาร์สำหรับเมืองใหญ่ มีความเป็นสากลมากขึ้น พัฒนาบนแพลตฟอร์มร่วมกับ Honda Jazz (GD) โฉมแรก (ก็ประหยัดด้วยแหละ) เพื่อจะส่งกลับไปทำตลาดญี่ปุ่นและนั่นทำให้ City ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2002 กลายเป็น “อุทัยเทวี” (นางคางคก) ในสายตาคนไทยบางส่วน

Honda City มือสอง

เพราะ City ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็น City ตั้งแต่เริ่มจรดปากกา แต่ใช้การปรับแบบจาก Honda Jazz หรือ Fit ตัวถังแฮตช์แบ็ก 5 ประตู ซึ่งเป็นทรง MPV  โดยการต่อตูดออกไป พิกัด สัดส่วน ของ Honda City ที่เป็นรถ 4 ประตู ซีดาน จึงค่อนข้างประหลาดแถมอ้วนป้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Honda City มือสอง

แต่ยังดีว่าชื่อเสียง ความหรูหรา ขับสบายและเบาะอเนกประสงค์ Ultra Seat ของ Honda ทำให้ City โฉมนี้ยังพอมีของไปสู้กับ Toyota Soluna Vios ที่ออกแบบมาได้ลงตัวกว่าได้บ้าง ขณะที่รุ่นย่อยมีให้เลือกมากเป็นพิเศษ อุปกรณ์ความปลอดภัยเริ่มเยอะขึ้นเช่นกัน

ส่วนขุมพลังของ Honda City โฉมนี้ ไม่โดดเด่นเด่นในแง่ของพละกำลัง เพราะเครื่องยนต์ 4 สูบ 8 วาล์ว เทคโนโลยี i-DSI (จัดให้สูบละ 2 หัวเทียน) กำลังสูง...ไม่อ่ะ แค่ 88 แรงม้า แรงบิด 131 นิวตันเมตร ลดลงจาก City Type Z ไปอี้กกกก ยิ่งจับคู่กับเกียร์ CVT ด้วยแล้ว ห่างไกลกับคำว่าสปอร์ตมาก ๆ แต่ขับสบาย ยิ่งได้พวงมาลัยผ่อนแรงด้วยไฟฟ้าแล้ว ไม่แปลกที่ผู้หญิงจะชอบ มันเนิบ เบา ราบเรียบ

Honda City ZX
Honda City ZX

สูตรเดิม VTEC 16 วาล์ว (ไม่ i-DSI) ตามมาตอนปรับโฉม ที่เรียกว่า Honda City ZX กำลังเพิ่มเป็น 110 แรงม้า แรงบิด 143 นิวตันเมตร จับคู่กับเกียร์ CVT แต่ก็ยังไม่ใช่รถที่ปรู้ดปร้าดอยู่ดีด้วยพื้นฐานด้านวิศวกรรมไม่อำนวย เน้นขับสบายมากกว่า

Honda City เจเนอเรชั่นที่ 3 : สวนกลับ Vios

เปิดตัวในปี 2008 และ City โฉมนี้ ดีไซน์ลงตัวถูกใจตลาดอาเซียนเป็นพิเศษ แม้จะใช้แพลตฟอร์มร่วมกับ Honda Jazz (GE) รุ่น 2 อยู่ คงได้รับบทเรียนมาพอแล้ว นอกจากนี้ความกล้าของ City ที่ทำให้คนฮือฮา คือการไม่ติดตั้งเครื่องเล่น CD มาให้ (มีเป็นออปชั่น) แต่รองรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟน (ด้วยสาย USB) 

ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกในตอนนั้น ต่างจากวันนี้ จะเรียกว่าเข้าใจไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ก็ได้ ขณะที่ราคา City รุ่นสูงสุดเฉียด 7 แสนบาท ไปเรียบร้อย และถึงแม้จะมีรุ่นเริ่มต้นราคา 5 แสน นิด ๆ แต่ภาพลักษณ์ City ในสายตาคนไทยก็ไม่ใช่รถราคาประหยัดมาสักพักแล้ว

ทางด้านขุมพลังเบนซิน แบบ 4 สูบ ขนาด 1.5 ลิตร เป็น i-VTEC ทั้งหมดแล้ว ให้กำลังสูงสุด 120 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 145 นิวตันเมตร แรงกว่าที่ City เคยแรง ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด CVT ไม่เอาแล้ว คนไทยยังไม่คุ้น

Honda City ไมเนอร์เชนจ์เบา ๆ เบามาก
Honda City ไมเนอร์เชนจ์เบา ๆ เบามาก

Honda City มือสอง
ตามด้วยรุ่นพลังงานทางเลือก ติดก๊าซธรรมชาติ CNG

Honda City มือสอง

ในปี 2011 City มีการปรับโฉม แต่ไม่มาก ปี 2021 เพิ่มรุ่น City CNG ช่วงพลังงานก๊าซธรรมชาติกำลังฮิต ราคาไม่ถูกนัก รุ่นสูงสุดทั้งเบนซินและ CNG ต่างเกิน 7 แสนบาทแล้ว แม้เกินแค่หลักพันบาทก็เถอะ

Honda City เจเนอเรชั่นที่ 4 : แรงฉุดไม่อยู่

เปิดตัวในไทยครั้งแรกปี 2014 ใช้แพลตฟอร์มร่วมกับ Honda Jazz (GK) รุ่น 3 ดีไซน์ไม่เปลี่ยนไปจากโฉมก่อนนัก อาจเพราะลงตัวมากอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้ชื่อเสียงของ City ติดลมบนไปแล้ว จะเรียกว่าขึ้นไปทำหน้าที่แทน Civic ในอดีต อุปกรณ์แน่นขึ้น (ส่วน Civic ก็ถูกดันขึ้นไปทั้งราคาและขนาด) เพื่อเปิดทางให้ Honda  Brio/Brio Amaze ภายใต้โครงการอีโคคาร์ (ประหยัดพลังงาน ปล่อยมลพิษต่ำ) รับบทบาทเดิมที่ City รุ่นแรกสุดเคยเป็นในแง่ของราคา

ขุมพลังมีแบบเดิมแบบเดียว คือ 4 สูบ ขนาด 1.5 ลิตร i-VTEC เหมือนโฉมก่อน แต่ปรับนู่นนิด นี่หน่อย และผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 4 กำลังเลยแผ่วลงเล็กน้อยเหลือ 117 แรงม้า แต่แรงบิดสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็น 146 นิวตันเมตร ส่วนระบบส่งกำลังเปลี่ยนจาก 5 จังหวะ กลับมาเป็น CVT อีกรอบ คราวนี้ให้อารมณ์การเปลี่ยนเกียร์คล้ายเกียร์อัตโนมัติแบบดั้งเดิม !!! และเวอร์ชั่น CNG ก็ยังมีให้เลือกอยู่เช่นกัน

Honda City มือสอง

Honda City มือสอง

Honda City โฉมที่ 4 มีการปรับโฉมในปี 2017 และยังอยู่ดำรงสถานะซิตี้คาร์ต่อไป ขณะที่ฝั่งคู่แค้นแสนรักอย่าง Toyota ตลบหลังอีก ส่ง Yaris Ativ (จริง ๆ มันก็คือ Vios แปลงโฉม ลดขนาดเครื่องยนต์) เพื่อให้เข้าเกณฑ์ของโครงการอีโคคาร์ (ภาษีต่ำกว่า) ออกมาแก้เกม

Honda City เจเนอเรชั่นที่ 5 : อีโคคาร์ที่ไม่ใช่อีโคคาร์

การเป็นอีโคคาร์คงยากเกินกว่าที่ Honda (หรือใคร ๆ) จะยอมรับ แม้ City เจเนอเรชั่นที่ 5 (ล่าสุด) ได้ตีตั๋วเข้าโครงการนี้ด้วย อาจเพราะ “อีโคคาร์” ถูกมองว่าคือรถราคาประหยัดไปแล้วหรือเปล่า แต่อย่างไรก็ช่าง Honda City ไม่ค่อยอยากสื่อสารว่าเป็นอีโคคาร์นัก เพราะสุดท้ายแล้วมันก็เป็นเพียงแค่ชื่อโครงการ (ที่รัฐเอาไว้คอยชี้นำทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ ล่าสุดไปดันรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จะไฮบริดหรือไฟฟ้าล้วนก็ว่ากันไป)                                                                                                                                                  

โดย Honda City โฉมนี้ เลือกไทยสำหรับการเปิดตัวเป็นครั้งแรก เมื่อปลายปี 2019 สำหรับอวดโฉมที่งาน Motor Expo 2019 ขนาดตัวถังใหญ่กว้างและยาวกว่าที่เคยตามแนวคิด Man maximum, Machine minimum แต่ความยาวฐานล้อหน้า-หลัง ความกว้างฐานล้อคู่หน้า กับคู่หลังกลับลดลง ทำให้ Stance หรือท่ายืนของรถ ดูไม่ทะมัดทะแมงอย่างที่ควรจะเป็น (ตัวถังล้นล้อไปมาก จุดนี้ Almera ทำได้ดีกว่า) และไปเน้นความทันสมัยด้วยรายละเอียด

ส่วนไฮไลต์หลักจริง ๆ คือขุมพลังเบนซิน แบบ 3 สูบ 1.0 ลิตร VTEC เทอร์โบ DOHC 12 วาล์ว หัวฉีดตรง ได้กำลังสูงสุดถึง 122 แรงม้า และแรงบิด 173 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์ CVT ถือว่าแรงสุดเท่าที่ City เคยแรง และแรงกว่าอีโคคาร์ (เบนซิน) ทุกรุ่นในไทยกันไปเลย

Honda City Hatchback
Honda City Hatchback

คล้อยหลังไปประมาณ 1 ปี ช่วงปลายปี 2020 Honda ได้ปล่อยไลน์อัพใหม่ของ City มาพร้อมกัน 2 รุ่น คือ City Hatchback กับ City e:HEV (ตามนโยบายการส่งเสริมของรัฐอีกโครงการที่ไม่ใช่อีโคคาร์ ดังนั้น ห้ามเรียก City e:HEV ว่าอีโคคาร์ เดี๋ยวโดนย้อนหงายเงิบและเลิกรุ่น CNG แล้ว) ทางด้านขุมพลังตัวถัง 5 ประตู แฮตช์แบ็ก เหมือน 4 ประตู ซีดาน

City e:HEV ไม่ใช่อีโคคาร์นะ (อันนี้จริง ๆ ไม่ได้แซะเลย)
City e:HEV ไม่ใช่อีโคคาร์นะ (อันนี้จริง ๆ ไม่ได้แซะเลย)

แต่ City e:HEV จะต่างออกไป ด้วยเครื่องยนต์เบนซิน แบบ 4 สูบ วัฏจักร Atkinson เน้นประหยัด ขนาด 1.5 ลิตร DOHC มีวาล์วอัจฉริยะ i-VTEC กำลังสูงสุด 98 แรงม้า และแรงบิด 127 นิวตันเมตร ทำงานประสานกับมอเตอร์ไฟฟ้าถึง 2 ตัว (มอเตอร์ขับเคลื่อน+มอเตอร์เจเนอเรเตอร์) มีแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนลูกเล็กไว้เก็บพลังงานไฟฟ้า ให้กำลังสูงสุด 109 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 253 นิวตันเมตร

"Honda เคลมว่า City e:HEV จะมีอัตราเร่งเทียบเท่ารถ D-Segment (ระดับ Accord, Camry) เครื่องยนต์เบนซิน 2.5 ลิตร ด้วยอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ภายในเวลาต่ำกว่า 10 วินาที ส่วนอัตราสิ้นเปลือง 27.8 กม./ลิตร ตามมาตรฐาน EcoSticker"

และนี่คือเรื่องราว การเปลี่ยนแปลงของ Honda City ในบริบทของไทย ที่เกิดจากความตั้งใจและการผลักดันรอบด้านให้กลายเป็นรถยอดนิยม (ทั้ง City และ Vios จนมาถึง Yaris/Yaris Ativ)  จากรถราคาประหยัดสำหรับมหาชนคนไทย (ภายใต้โครงการ AFC) จนขึ้นไปติดลมบนในฐานะซิตี้คาร์รุ่นฮิตแทน Civic มีพลังงานทางเลือก CNG สู่อีโคคาร์ที่ไม่ใช่อีโคคาร์ (เพราะ Brio บ้งมาก) จนถึงการเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เรียกว่า City พร้อมเป็นทุกอย่าง เห็นจะเหลืออย่างเดียวตอนนี้ที่ City ยังเป็นให้ไม่ได้ ก็ City Cross แหละมั้ง

ลองค้นหา รถมือสอง ที่ถูกใจมีให้เลือกกว่าหมื่นคัน

อ่านเพิ่มเติม : จะซื้อ Honda City Hatchback 2020 ใหม่ เลือกรุ่นย่อยไหนดีนะ

ATS
แท็ก Honda City