เมื่อมีกำลังที่จะสามารถซื้อรถหรูราคาสูงกว่ารถตลาดขึ้นมา ทางเลือกของแหล่งขายก็มีมาขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อพูดถึง “รถเกรย์” น่าจะพอเคยได้ยินกับคำนี้กันมาบ้าง สำหรับอีกหนึ่งทางเลือกในแหล่งซื้อขายรถยนต์นำเข้า ไม่จำเป็นว่าต้องง้อตัวแทนอย่างเป็นทางการเพียงอย่างเดียว ถ้าคุณอยากได้รถที่เพิ่งออกใหม่เมืองไทยยังไม่มีขาย, รุ่นพิเศษออพชั่นสเปคอุปกรณ์มีมาให้ครบครันกว่ารุ่นที่ขายในประเทศ Grey market นี่แหละทางเลือกหนึ่ง แต่ถ้าจะซื้อรถเกรย์แล้วความจริงมันดีกว่าหรือไม่ ไปดูกัน
ซื้อรถเกรย์ดีกว่าจริงหรือ?
รถเกรย์ คืออะไร
เกรย์ มาร์เกต (Grey Market) หรือรถเกรย์ ตรงตัวของความหมายคือรถตลาดสีเทาๆ ไม่ขาว ไม่ดำชัดเจน ซึ่งจริงๆ จะว่าแบบนั้นก็ได้ เพราะในเมื่อค่ายรถตั้งตัวแทนจำหน่ายขึ้นมาอย่างเป็นทางการแล้วทำไม ถึงยังต้องมีรถเกรย์อีก Grey market คือธุรกิจนำเข้าสินค้าอย่างถูกกฎหมาย และรถเกรย์ก็คือรถนำเข้าถูกกฎหมาย ในบางรุ่นที่ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการไม่ได้นำเข้ามาขายด้วยบางเหตุผลของเงื่อนไขข้อกำหนดบังคับจากบริษัทแม่ เกรงว่านำรุ่นนั้นมาขายไม่ออก ยอดไม่ถึง กลัวขายได้ยอดขั้นต่ำที่ต้องสั่งจากบริษัท รถค้างสต๊อก
Grey Market ผู้นำเข้าอิสระเข้ามาเติมเต็มในเรื่องของรถบางรุ่นที่สดใหม่ อุปกรณ์ออพชั่นครบครันกว่า ได้รับรถเร็วกว่า รถใหม่บางรุ่นที่เพิ่งเปิดตัวในต่างประเทศกว่าที่ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ จะถึงคิวที่ได้รับรถมาขายตามแผนการตลาดของบริษัทแม่ ซึ่งอาจนานเกินจะให้คนกระเป๋าหนักต้องมารอ ช่องว่างตรงนี้ทำให้ผู้ประกอบการรถนำเข้าอิสระ ที่ตัดสินใจได้ทันที รวดเร็วกว่า ซื้อรถจากดีลเลอร์ตัวแทนในต่างประเทศมาจำหน่ายตัดหน้าตัวแทนอย่างเป็นทางการในประเทศไทย อีกทั้งเรื่องราคาที่รถจากผู้ประกอบการรถเกรย์ ทำราคาออกมาได้ถูกกว่ารถจากตัวแทนอย่างเป็นทางการมากเมื่อเทียบกับรถรุ่นเดียวกัน จะด้วยเพราะตัวแทนอย่างเป็นทางการตั้งราคารถไว้สูงเว่อเกินไปหรือรถเกรย์ผ่านขั้นตอนด้านภาษีจนออกมาได้รถที่ราคาถูกกว่ามาก บางรุ่นถูกกว่าหลักล้านเมื่อผ่านขั้นตอนการคิดภาษีทั้งวิธีที่ถูกต้อง หรือผิดกฎหมายเป็นไปได้ทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องได้รับการตรวจสอบในเชิงลึก แต่เมื่อราคารถที่ถูกกว่ามากแล้วจึงกลายเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ซื้อหันมาสนใจรถนำเข้าจากเกรย์ได้อย่างไม่ต้องสงสัย
จุดเด่นที่ทำให้รถเกรย์น่าสนใจ
ตามที่กล่าวไว้ว่าเรื่องราคาคือข้อเด่นชูโรงที่รถนำเข้าจากเกรย์ สามารถขายแข่งกับตัวแทนอย่างเป็นทางการได้ อีกทั้งในรถบางรุ่นที่ตัวแทนอย่างเป็นทางการไม่ได้นำเข้ามาขาย แต่ผู้ซื้อต้องการก็สามารถสั่งได้จากผู้นำเข้าอิสระ รวมไปถึงรายละเอียดออพชั่นอุปกรณ์ สีตัวรถ สีภายใน ก็เลือกได้มากกว่ากับรถจาก Grey Market อีกด้วย รถนำเข้าที่ได้รับความนิยมหลายๆ รุ่น ที่ถูกนำเข้าจากผู้นำเข้าอิสระมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Porsche Cayenne, Ferrari ทุกรุ่น, Lotus Evora, Toyota Alphard, Toyota Wellfire, Toyota 86, Toyota Land Cruiser Prado, Nissan Cube, Nissan Juke, Nissan GT-R, Nissan Fairlady Z, Mercedes-Benz AMG, Lamborghini, Audi R8, Porsche 911 เป็นต้น จะเห็นว่าบางรุ่นก็มีจำหน่ายจากตัวแทนอย่างเป็นทางการ แต่ถ้ามองเข้าไปในรายละเอียดของตัวรถ สิ่งที่รถจากเกรย์จะมอบให้อาจมีมากกว่า พร้อมราคาตัวรถที่ถูกกว่า
รถเกรย์สามรถสั่งรายละเอียดตัวรถได้ตามต้องการของผู้ซื้อ
>> Porsche ส่ง Cayenne ไฮบริดไปทดสอบความอึดที่แอฟริกาใต้
>> Porsche กวาด 3 รางวัล รถสปอร์ตยอดเยี่ยมแห่งปี 2018
เหรียญมีสองด้านเสมอ
เมื่อมีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย ข่าวไม่ดีในเรื่องของภาษีรถนำเข้าจากผู้นำเข้าอิสระมีออกมาให้เราได้เห็นได้ยินอยู่เป็นระยะ ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของรถประเภทนี้ดูไม่ดีไปด้วย เงื่อนไขภาษีนำเข้ารถยนต์ที่สูงปรี๊ดกลายเป็นปัจจัยให้ผู้ประกอบการต้องทำทุกวิธีทางเพื่อให้การเสียภาษีน้อยที่สุด ลดต้นทุนสินค้าให้ถูกที่สุด และเมื่อขายได้ก็กำไรมากขึ้น ซึ่งการเก็บภาษีจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรูปแบบการลักษณะที่นำเข้ารถเข้ามาในอาณาจักรสยามประเทศว่าอยู่ในรูปแบบไหน บางรูปแบบที่ช่วยให้เสียภาษีนำเข้ารถถูกกว่าก็อาจถูกนำไปใช้ จนส่งผลตามหลังมากับผู้ซื้อรถไปแล้วต้องมาจ่ายภาษีย้อนหลังเป็นจำนวนเงินมหาศาลเพราะรูปแบบการนำเข้าไม่ถูกต้อง จากจุดเริ่มที่ตัวผู้นำเข้าอิสระเอง
ตัวอย่างวิธีการมากกมายที่ผู้ประกอบการรถนำเข้า (บางราย) ใช้เพื่อทำให้รถถูกลง
เพื่อแจ้งเสียภาษีในอัตราที่น้อยกว่า อ้างว่าเป็นอะไหล่เพื่อจะเสียภาษีเข้ามาถูกกว่า จากนั้นจึงเอาแต่ละชิ้นส่วนมาประกอบรวมขึ้นเป็นรถคันใหม่ในเมืองไทย แล้วสร้างเล่มทะเบียนขึ้นมาด้วยช่องทางต่างๆ ซึ่งผลที่ตามมาในกรณ๊ที่ตัวรถนำเข้ามาในรูปแบบอะไหล่ ผู้ซื้อรถไปเป็นเจ้าของแล้วเรียบร้อยอาจต้องปวดหัวภายหลังหากมีการตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องของตัวทะเบียน สุดท้ายต้องจ่ายภาษีย้อนหลังซึ่งขึ้นอยู่กับราคาจริงๆ ตามตัวรถ
แจ้งราคารถต่ำกว่าความเป็นจริง
ไม่ว่าจะเป็นทั้งกรณีของการนำเข้ารถใหม่ หรือนำเข้ารถเก่ามือสองใช้แล้ว แล้วมาแจ้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง ถ้ามีการตรวจสอบภายหลังว่าราคาไม่ตรงกับความเป็นจริง ผู้ซื้อรถไปนั่นแหละที่จะต้องรับภาระจ่ายส่วนต่างเพิ่มให้ถูกต้องครบตามจำนวน
ผู้นำเข้าอิสระที่แจงรายละเอียดรถไม่ตรงความเป็นจริงก็เสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบย้อนหลังได้
บางรุ่น สเปคอาจไม่เหมาะกับบ้านเรา
ผู้ที่เลือกซื้อรถนำเข้า เงินถึง พร้อมจ่ายยังไงก็แล้วก็ย่อมต้องการสิ่งที่ตรงใจตามต้องการมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสีรถภายนอก สีภายในหรือในบางอุปกรณ์ของตัวรถที่เห็นว่าเปิดตัวในต่างประเทศ ดึงดูดให้อยากซื้อรถรุ่นนั้นมาใช้ แต่พอมาขายจริงในไทยอุปกรณ์นั้นๆ ตัวแทนในไทยอาจไม่นำอุปกรณ์นั้นมาให้กับตัวรถด้วย ผู้ซื้อจึงหันไปคบหากับผู้ประกอบการรถนำเข้าแทน ที่ช่วยให้ได้รถตามต้องการทุกอย่าง แต่รู้ไหมว่าเหตุที่ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการมีออพชั่นอุปกรณ์บางอย่างแตกต่างจากรุ่นจำหน่ายในต่างประเทศก็เพราะตัวแทนจำหน่ายเห็นว่าอุปกรณ์บางอย่างอาจไม่เหมาะสมกับการใช้งานในบ้านเรา จึงตัดอุปกรณ์เหล่านั้นออกไป บางอุปกรณ์ไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในรถที่วิ่งบนถนนเมืองไทยก็ได้
ซื้อรถนำเข้าต้องไม่ลืมดูรายละเอียดอุปกรณ์ว่าเหมาะกับใช้งานขับขี่ในประเทศไทยหรือไม่
ซ่อมจบหรือเปล่า?
เมื่อพูดถึงเรื่องซื้อรถ บริการหลังการขายคือจุดหนึ่งสำคัญที่ไม่ว่าจะรถตลาดหรือรถหรูราคาแพง ผู้ซื้อจะต้องใส่ใจในเรื่องนี้ ผู้ประกอบการรถนำเข้าอิสระบางรายมีศูนย์บริการหลังการขาย เพียบพร้อม เครื่องมืออุปกรณ์ซ่อม และดูแลรถครบครัน พร้อมกับทีมช่างผู้ชำนาญการ ซึ่งบางรายก็รับซ่อมรถหมดทุกคัน บางรายจะรับเฉพาะแต่ลูกค้าที่ซื้อรถกับตัวเองไปเท่านั้น การเลือกซื้อรถเกรย์จากผู้นำเข้าจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูภูมิหลังในเรื่องของบริการหลังการขายด้วย ใช่ว่าจะเน้นดูที่ราคาที่บางเจ้าขายถูกกว่ามาก แต่พอรถมีปัญหากลับไม่มีปัญญาซ่อมให้ลูกค้า ต้องส่งต่อให้ศูนย์ซ่อมที่อื่น
ซื้อรถเกรย์ต้องดูศูนย์บริการด้วยว่ามีศักยภาพมากแค่ไหน
แต่ถ้าเทียบเปรียบกันแล้วจริงๆ นั้น ผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการดูจะมีภาษีในการซ่อมดีกว่า เรื่องเครื่องมืออุปกรณ์แน่นอนว่าได้มาตรฐานจากบริษัทแม่อยู่แล้ว อีกทั่งเรื่องของช่างที่จะอยู่แต่กับรถยี่ห้อนั้นๆ ประสบการณ์ที่เมื่อเจอปัญหาของตัวรถก็จะรู้วิธีแก้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่นรถ Mercedes-Benz หรือ BMW จากผู้ประกอบการรถนำเข้าอิสระ ที่เมื่อทางศูนย์ของตัวเองแก้ปัญหาตัวรถไม่จบ แก้ปัญหาไม่ได้ ก็มักจะส่งรถไปที่ศูนย์บริการของบริษัทแม่ แม้ทางค่ายจะมีมาตรการออกมาแล้วว่าทางศูนย์บริการจะไม่รับซ่อมรถเกรย์แต่จากข้อมูลที่ได้รับ เห็นว่าศูนย์ซ่อมของบริษัทแม่ก็ยังรับซ่อมรถเกรย์ให้อยู่ อยู่ที่ผู้ประกอบการรถนำเข้าอิสระรายนั้นๆ คุยกับดีลเลอร์ยังไง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ซื้อก็ไม่มีทางจะรู้ได้อย่างแน่ชัดว่าผู้ประกอบการถนำเข้าจะมีศักยภาพในการซ่อม ทั้งซ่อมด้วยตัวเองหรือแม้จะส่งต่อไปให้ศูนย์ตัวแทนอย่างเป็นทางการซ่อมได้แค่ไหน ดังนั้นการซื้อรถตรงกับตัวแทนอย่างเป็นทางการพร้อมรับประกันก็ย่อมทำให้สบายใจกว่าซื้อรถเกรย์ นี่คือข้อเสียเปรียบที่รถเกรย์ยังต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อมากขึ้น
อย่าเพิ่งวางใจเทคโนโลยี
ยิ่งกับรถที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ระดับโลก อย่างรถไฟฟ้า EV, Plug-In Hybrid ผู้ซื้อยิ่งต้องระวังให้มาก ถ้าจะสั่งรถเกรย์เข้ามาใช้แบบสเปคสำหรับบ้านเมืองอื่น ซึ่งอาจไม่เหมาะกับบ้านเรา ช่างเตรียมรถให้ไม่พร้อม ไม่ติดตั้งที่ชาร์จไฟให้ที่บ้าน ตัวอย่างตามข่าวรถหรูชาร์จไฟทิ้งไว้จนไฟลุกของ Porsche Panamera 4 E-Hybrid คันนั้นก็ไม่ได้ซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย AAS ตัวแทน Porsche อย่างเป็นทางการในไทย แต่ซื้อผ่านผู้นำเข้าอิสระ ซึ่งรถคันนี้แม้จะมีทำประกันชั้นหนึ่งไว้ จ่ายปีละกว่าแสนบาท แต่ทางบริษัทประกันภัยสามารถชดใช้ค่าเสียหายให้ได้เพียงร้อยละ 80 ของราคารถเท่านั้น เจ้าของรถขาดทุนยับ แต่ถ้าผู้ซื้อซื้อผ่านตัวแทนอย่างเป็นทางการ ในปัจจุบันจะมีการรับประกันถึง 9 ปี และบางรุ่นที่มีระบบไฮบริดก็จะรับประกันระบบไฟฟ้าให้ถึง 6 ปี จะเห็นได้ว่าความอุ่นใจในการขับขี่หลังจากซื้อรถไปแล้วนั้น ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของไทยมอบให้ได้มากกว่า
Porsche Panamera 4 E-Hybrid ไฟไหม้วอดทั้งคัน ประคันคุ้มครองแค่ 80%
ข้อดีมีข้อเสียก็มากสำหรับรถเกรย์ อยู่ที่การตัดสินใจของแต่ละคน เงินใครเงินมันห้ามกันไม่ได้ แม้บางทีผู้ซื้อที่จ่ายไปกับการซื้อรถเกรย์จะรู้ว่าเสี่ยงกับปัญหาที่ตามมา แต่ด้วยราคาที่ถูกว่ามากมาย มันช่างเย้ายวนรันจวนใจให้น่าไปซื้อรถเกรย์เสียเหลือเกิน เมื่อจ่ายถูกกว่าแล้วก็ต้องยอมรับสิ่งที่จะเจอภายหลังจากซื้อให้ได้ด้วย แต่ถ้าคิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ เอาอุ่นใจไม่ต้องปวดหัวภายหลังซื้อรถจากตัวแทนอย่างเป็นทางการ คือความมั่นใจในการขับขี่ บริการหลังการขาย และเรื่องเอกสารทะเบียนรถถูกต้องที่มากกว่า แม้จ่ายแพงกว่า อุปกรณ์ออพชั่นไม่ดีเท่า ก็ถือเสียว่าเป็นการซื้อความสบายใจก็แล้วกัน
แล้วถ้าเป็นคุณจะซื้อรถเกรย์หรือจากตัวแทนนำเข้าอย่างเป็นทางการ บอกกับเรา Chobrod ให้ได้รู้กันสักหน่อย ใต้ Comment นี้เลย
ดูเพิ่มเติม
>> ปอร์เช่ ประเทศไทย R&D ไม่หยุดยั้ง มุ่งสู่ความเป็นเลิศและการพัฒนายนตรกรรมที่ยั่งยืน
>> ใกล้ชิดและเสมือนจริง Porsche เปิดตัวแอพฯ Mission E Augmented Reality