พาไปดูสถาณการณ์ของตลาดรยนต์ประเทศเพื่อนบ้านกันหน่อยดีกว่า ในละแวก ASEAN นี้เรื่องวงการรถยนต์นอกจากประเทศหลักๆ ใน AFTA เช่น ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย และอีกหน่อยน่าจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นมาโดยเฉพาะเวียดนาม ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ติดกับบ้านเราอย่างลาว เขมร นั้นก็มีลักษณะแปลกๆ เป็นการค้านอกรูปแบบเช่น ขโมยรถส่งข้ามแดนกันทำให้คาดเดาดีมานด์ที่แท้จริงลำบาก
เรื่องน่ารู้ในตลาดรถประเทศเพื่อนบ้านที่เราไม่ควรมองข้าม
ซึ่งมันยากต่อนักลงทุนในการประมาณการยอดขายและรายได้ และบางประเทศก็ไม่มีความแน่นอนทางการเมือง บ้างก็ยังต้องพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนนหนทาง การลงทุนในด้านพลังงานน้ำมัน ซึ่งเป็นอุปสรรคขวางการเจริญเติบโตต่อวงการยานยนต์ เราลองมาดูภาพรวมของประเทศเหล่านี้ เรียงลำดับกันเลย ณ บัดนี้
เขมร
เพื่อนบ้านรายนี้ของเราแม้จะก่อรูปอาณาจักรมาก่อนบ้านเราเนิ่นนาน แต่ในอดีตถูกรุกรานเข่นฆ่ากันล้มตายไปเป็นอันมาก เหลือพลเมืองอยู่ขณะนี้แค่ 12 ล้านคน ทั้งทุพพลภาพและสมบูรณ์แบบในเนื้อที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร ประชากรของเขมรกระจายอยู่ในย่านเมืองต่างๆ ในเขตชนบทไม่กระจุกตัวเฉพาะในกรุงพนมเปญโดยที่เมืองหลวงแห่งนี้มีประชากรแค่ประมาณ 1 ล้านคนเท่านั้น ประชาชนของเขาพูดภาษาเขมรเป็นหลักตามด้วยเวียดนามบ้าง จีนบ้าง
รายได้หลักของประเทศมาจากภาคเกษตร การทำป่าไม้และประมง คู่ค้าหลักนอกจากจะเป็นในกลุ่มสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ด้วยกันแล้วก็มีญี่ปุ่น ยุโรปและสหรัฐ รายได้ต่อหัวต่อปีเฉลี่ยเพียง 270 เหรียญยูเอสเท่านั้น อายุเฉลี่ยประชากรอยู่เพียง 53 ปี เขมรได้รับการรับรองจากกลุ่ม ASEAN ให้เข้าร่วมในมติเมื่อปี 1998 นับเป็นชาติที่ 10 ซึ่งเข้าร่วมในกลุ่ม
อุตสาหกรรมยานยนต์ของเขมร
อุตสาหกรรมยานยนต์ของเขมร
ตลาดหลักของประเทศนี้เป็นรถ CBU นำเข้าสำเร็จรูป ตลาดรตลาดรถถใหม่มีไม่ถึง 1,000 คันต่อปี ซึ่งถ้ารวมรถเก่าด้วยก็จะเป็นประมาณ 2,000-3,000 คัน ทั้งนี้ไม่อาจรวมรถโจรกรรมจากประเทศรอบข้างเข้าไปด้วย
ผู้ซื้อหลักได้แก่ องค์กร/สถาบันต่างชาติ ภาครัฐบาล นอกนั้นเป็นพวกมอเตอร์ไซค์ที่บินกันว่อนเมืองคือ ขายได้มากกว่ารถยนต์ในอัตรา 6 : 1 ตามข้อมูลล่าสุดพบว่าเขมรมีมอเตอร์ไซค์วิ่งอยู่ 477,954 คันในขณะที่มีรถยนต์วิ่งแค่ 72,407 คัน หรือถ้าเทียบต่อประชากรหนึ่งคนจะพบว่าในขณะที่คนมีรถอยู่ในอัตรา 157:1 มอเตอร์ไซค์อยู่ในอัตรา 26 : 1
ในจำนวนรถยนต์ทั้งหมด 60 % เป็นรถเก๋ง 30 % เป็นพวก SUV อีก 10 % เป็นรถกระบะ ซึ่งไอ้ 2 ประเภทหลังนี้ใช้ในหน่วยงาน NGO ซะเยอะเพราะทนทานนั่นเอง เนื่องจากสภาพถนนหนทางของเขาเหมาะกับการทำลายรถเก๋งเป็นอันมาก สังเกตได้จากดีมานด์ที่มาตาม “ใบสั่ง” รถที่ข้ามแดนไปจากบ้านเราส่วนใหญ่จะเป็นรถอเนกประสงค์พวกนี้ แม้เขมรได้รับมติเอกฉันท์เพื่อเข้าร่วม AFTA ไปแล้วและกำลังจะก้าวเข้าเต็มตัวเร็วๆ นี้แต่ก็ไม่มีผลมากต่อการเพิ่มจำนวนความต้องการในภูมิภาคมากนักเพราะ
1. ข้อจำกัดทางสภาพถนนหนทางที่เป็นหลุมบ่อและไม่ปลอดภัยจากผลพวงของสงคราม (บรรดากับระเบิดต่างๆ ซึ่งป่านนี้ก็ยังเคลียร์ไม่หมด) แม้ธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชี่ยนรวมทั้งองค์กรอิสระต่างๆ จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือแต่ยังไม่มีผลมากมายในระยะปานกลางนี้
2. รัฐบาลเขมรยังหาข้อสรุปเรื่องข้อตกลง เงื่อนไข มาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้แน่ชัดไม่ได้ จึงไม่จูงใจนักลงทุนต่างชาติ
3. ปัญหาการ “สั่ง” รถที่จอดอยู่ตามถนนหรือในบ้านในอาคารแถวประเทศใกล้เคียงเข้าไปโดยที่เจ้าของเขาไม่อนุญาต รัฐบาลเขมรยังไม่ (พยายาม) เข้ามาดูแลตรงนี้อย่างเป็นรูปธรรม ตรงนี้ถ้ายังแก้ไม่ได้คือยังคงเกิดขึ้นต่อไปก็ไม่จำเป็นในการที่เขมรจะต้องลงทุนผลิตรถเองในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ค่ายรถยักษ์ๆ ก็ได้เข้าไปตั้งเครือข่ายการจำหน่ายและบริการในเขมรอยู่พอสมควรทั้ง Toyota, Mitsubishi, Nissan, Isuzu, Ford, Jeep, Peugeot, Fiat, Mercedes-Benz, BMW, Hyundai, Daewoo ถ้าจะเอาชื่อองค์กร / บริษัทก็มีดังนี้
Metro Group : Mitsubishi
Stanhill Engineering : Komatsu and Bosch Parts
R.M. Asia Co.,Ltd : Ford, Jeep
T.T.H.K. Co.,Ltd – Toyota
ดูเพิ่มเติม
>> Tips: มือใหม่อยากได้รถมือสอง ต้องทำยังไง???
>> โปรโมชั่นต้อนรับปีใหม่ของ Toyota Revo และ Toyota Camry
เวียดนาม
มีประชากรรอดตายจากสงครามเหลือเบ็ดเสร็จราวๆ 79 ล้านคนบนเนื้อที่ 330,363 ตารางกิโลเมตร เมืองที่คนกระจุกตัวอยู่มาคือ ฮานอย โฮจิมินห์ ไฮฟองและดานัง ประชากรผลสมผสานระหว่างชาวเวียดนาม จีน เขมร จาม และชนกลุ่มน้อยอีกมากมาย ภาษาที่ใช้มีทั้งเวียดนาม ฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เวียดนามมีการค้าขายกับญี่ปุ่น ฮ่องกง เยอรมัน ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย มีสินค้าออกที่สำคัญคือ ข้าว สิ่งทอ น้ำมันดิบ รองเท้า และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทะเล
รถยนต์ของเวียดนาม
วงการรถยนต์ของเวียดนาม
ประเทศนี้เริ่มมีรถยนต์วิ่งมาตั้งแต่ปี คศ.1920 บนถนนในไซง่อนเนื่องจากขณะนั้นฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ปกครองอยู่สั่งเข้าไปใช้ แต่จนปัจจุบันยอดการซื้อขายรถยนต์ในเวียดนามก็ไม่ได้เติบโตนักเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันไปในสงครามที่เพิ่งสงบไปไม่ถึง 40 ปีดี เมื่อมองย้อนหลังไปตัวเลขนี้เคยเติบโตบ้างในช่วงหลังสงครามโลกคือ 1945-1954 เพราะฝรั่งเศสอยู่ในฝ่ายชนะสงคราม ทำให้พวก Renault, Citroen และPeugeot ทั้งหลายขายดิบดี แต่หลังจากเวียดนามได้อิสรภาพจากฝรั่งเศสในปี 1954 ต่อมาอีกประมาณสิบปีเกิดความวุ่นวายในสงครามกับอเมริกัน ยอดขายรถยนต์ก็ตกวูบลงเหลือตลาดแคบๆ ซึ่งมีอังกฤษและรถยุโรปบางยี่ห้อรวมทั้งรถยนต์จากญี่ปุ่นที่เริ่มเข้ามาในช่วงนี้คือแถวๆ ปี คศ. 1960 นำโดย Toyota, Mazda และHonda ช่วงปี 1970 ได้เริ่มมีการประกอบรถยนต์เกิดขึ้นในสเกลเล็กๆ ใช้ชื่อว่าบริษัท “La Dalat” ซึ่งอาศัยชิ้นส่วนพื้นฐานนำเข้าจากค่าย Citroen นั่นเอง
ประมาณกลางยุค 70 พออเมริกันแพ้กลับบ้านไปจึงถึงยุคที่รัสเซียเริ่มส่งรถเข้ามาขาย เช่นพวก Lada, Volga จนถึงปี 1980 เวียดนามเริ่มมาสั่งรถเก่าใช้แล้วจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราคาถูก และเมื่อปี 1991 รัฐบาลเวียดนามได้ลงทุนร่วมกับต่างชาติตั้งโรงงาน “Mekong Auto Corporation” ขึ้นผลิตรถยนต์วิ่งเกลื่อนอยู่ ถัดมาก็ได้ตั้ง “Vietnam Motors Corporation” ทำการประกอบรถ Mazda, Kia, Daewoo, Mitsubishi จนเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมาก็มี Toyota, Ford, Suzuki, Isuzu, Mercedes, Hino เข้ามาอีก รวมแล้วมีถึง 14 บริษัทที่เข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาลเวียดนามและขณะนี้ 11 บริษัทในนั้นเริ่มดำเนินงานแล้ว
อย่าง ไรก็ดีการเติบโตของการซื้อขายรถยนต์ในเวียดนามค่อนข้างเฉื่อยชา เหตุผลคือ อำนาจซื้อต่ำ ผู้คนนิยมเล่นมอเตอร์ไซค์มากกว่า ถนนหนทางนั้นถือว่าสภาพพอใช้แม้จะห่างชั้นจากบ้านเราแต่ช่วงที่เคยไปทำ งานอยู่ 4-5 ปีก็วิ่งเข้าออกในเขตชนบทไร่นาของเขาได้สะดวกดี เพียงแต่โรงแรมของเขาที่ว่าดีๆ ในหัวเมืองนั้นมีสภาพน่า “กลัวผี” มาก ต้องตบเบียร์หมดตู้จึงนอนหลับลงได้
อัตราส่วนคนใช้รถยนต์อยู่ที่ 5.48 คันต่อ 100 คน 70 % ของการซื้อรถใหม่เป็นพวกลูกค้าต่างชาติและหน่วยงานบริษัท ผิดกับมอเตอร์ไซค์ที่ขณะนี้มียอดจดทะเบียนอยู่ประมาณ 5.4 ล้านกว่าคันโดยมี Honda, Suzuki, Yamaha และVMEP (กลุ่ม Chinfon ของไต้หวัน) ที่ขายดีสุดคือ Honda Dream, Cup และ Super Cup
รายชื่อบริษัทรถยนต์รายใหญ่มีดังนี้
Ford Vietnam, Ltd : Ford
Hino Motors Vietnam Co.,Ltd : Hino
Isuzu Vietnam Co.,Ltd : Elf
Mercedes-Benz Vietnam Co.,Ltd : Mercedes
Mekong Auto Corporation : Mekong, Iveco, Fiat
Suzuki Vietnam Corporation : Suzuki
Toyota Motor Vietnam Co.,Ltd : Toyota
Vietindo Daihatsu Automotive Corporation : Daihatsu
Vietnam Daewoo Motors Co.,Ltd : Daewoo
Vinastar Motors Corp : Mitsubishi/Proton
Vietnam Motors Corp : Mazda, BMW, Kai
ส่วนบริษัทผู้จำหน่ายมอเตอร์ไซค์ก็มีอยู่ 4 บริษัทคือ Honda Vietnam Co.,Ltd, Suzuki Vietnam Corp, VMEP Co.,Ltd, Yamaha Motor Vietnam Co.,Ltd
ลาว
บนเนื้อที่ 236,000 ตารางกิโลเมตรกับประชากร 5 ล้านคนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และลาวมีชนกลุ่มน้อยกว่า 40 กลุ่มนับถือศาสนา ลัทธิและพูดภาษาต่างๆ กัน อายุโดยเฉลี่ยประชากรคือ 53 ปี หลังตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศสก็ตกอยู่ในสงครามที่ทำลายปะเทศให้ชะงักงันทางการพัฒนา จนกระทั่งประมาณปี 1986 จึงได้เริ่มมีแผนพัฒนาประเทศเป็นรูปเป็นร่างใช้กับเขา
การที่ลาวเริ่มเปิดประเทศให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปทำมาหากินทำให้ GDP ของประเทศเริ่มเติบโตเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา คือมีการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 7 % ต่อปีโดยมีภาคเกษตรเป็นตัวนำคือก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 50 % และเป็น 85 % ของแหล่งงาน สินค้าออกที่สำคัญคือ กระแสไฟฟ้า ผลิตผลเกษตร ผ้าสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์จากไม้ ประเทศคู่ค้าที่สำคัญคือ ญี่ปุ่น ไทย จีน มาเลเซีย สิงคโปร์
รถยนต์ในลาว
วงการรถยนต์ของลาว
เนื่องจากภูมิประเทศของลาวเป็นภูเขาลำเนาป่าทำให้การพัฒนาถนนหนทางน้อย ประชากรมีจำนวนน้อย ไม่ค่อยมีแรงจูงใจในการลงทุนตั้งโรงงานผลิต ยอดขายรถใหม่และใช้แล้วรวมกันมีไม่ถึง 1,700 คันต่อปี โดย 1 ใน 3 เป็นรถใหม่ตัวเลขจดทะเบียนรถยนต์มีไม่ถึง 40,000 ราย ในจำนวนนั้น 50 % เป็นรถเก๋ง 25 % เป็นกระบะ อีก 25% เป็น รถ SUV ตัวที่ขายดีคือ Toyota 4 WD, Mitsubishi 4 WD ส่วนรถเก๋งได้แก่ Toyota และMitsubishi มีหน่วยงาน NGO ภาครัฐบาลและบริษัทเอกชนเป็นลูกค้าหลัก เนื่องจากลาวไม่มีโรงงานผลิตรถยนต์ๆ ส่วนมากจึงนำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐ และ ไทย
พม่า
บนเนื้อที่ 676,552 ตารางกิโลเมตรของเขานั้นมีผู้คนประมาณ 49 ล้านคนอาศัยอยู่ ซึ่ง 2 ใน 3 เป็นเชื้อชาติพม่า (ซึ่งว่ากันว่าสืบเชื้อสายจากจีนและธิเบตผสมผสานกัน) นอกนั้นเป็นบรรดาชนกลุ่มน้อยต่างๆ เช่น กะเหรี่ยง ฉาน มอญ จีน กะฉิ่น พม่ามีทรัพยากรมากมายทั้งน้ำมัน ก๊าซ แร่ธาตุ อัญมณี และภาคเกษตรซึ่งภาคนี้ทำให้เกิดรายได้ประมาณ 60 % ของ GDP ประเทศคู่ค้าของพม่าได้แก่ จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย และ ไทย
รถยนต์ของพม่า
วงการรถยนต์ของพม่า
หลังจากรัฐบาลของพม่าเริ่มนำการปฏิรูปเศรษฐกิจมาใช้ในพม่าตั้งแต่ต้นยุค 90 เป็นต้นมาทำให้วงการรถยนต์ของพม่าเริ่มเติบโตชัดเจนขึ้น รวมทั้งการเติบโตของสินค้าอุปโภคบริโภคตัวอื่นด้วย มีการเข้า-ออกกระแสเงินตรงต่างสกุลมากขึ้น ประชาชนมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น มียอดจำหน่ายรถใหม่และเก่ารวมกันประมาณ 25,000 คันต่อปีโดย Toyota กับ Nissan เป็นตัวนำ
ปัจจุบันมีการจดทะเบียนรถอยู่ประมาณ 300,000 ราย โดย 72 % เป็นเก๋ง 28 % เป็นรถกระบะและรถเชิงพาณิชย์ จากยอดจดทะเบียนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นรถเก่าที่มีอายุใช้งานมาแล้ว 30-40 ปี ลูกค้าใหญ่เป็นพวกบริษัทแท็กซี่ ภาครัฐบาล หน่วยงานทหารและองค์กรธุรกิจ รถยนต์ส่วนใหญ่นำเข้าจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ สำหรับโรงงานผลิตนั้นปัจจุบันมีขนาดที่ถือว่าใหญ่เพียงรายเดียวคือ Myanmar Heavy Industries หรือ MHI ทำการผลิตรถ Mazda แม้จะมีพื้นฐานจากโซเวียตที่ตั้งไว้ให้ก็ตามแต่ก็มีกำลังการผลิตเพียง 300-400 คันเท่านั้น ปัจจุบันทาง Suzuki ได้เข้ามาเริ่มลงทุนตั้งโรงงานโดยลงทุนร่วมกับ Myanmar Automobile and Diesel Engine Company ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยทั่วไปคนพม่านิยมขี่มอเตอร์ไซค์มากกว่ารถยนต์
ประเทศต่างๆ เหล่านี้ในอนาคตอันใกล้น่าจะเข้ามามีส่วนเสริมการส่งออกจากฐาน AFTA หลักปัจจุบันคือ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยมีไทยเป็นผู้เล่นสำคัญ พม่า เขมร และเวียดนาม ตามมาช่วย(ซื้อ) ห่างๆ ไทยน่าจะเป็น “ศูนย์รวม” ตรงนี้ได้เพราะขนส่งสะดวก สามารถส่งรถผ่านด่านด้านแม่สอดไปยังพม่า ผ่านเชียงแสนไปถึงลาว ผ่านโรงเกลือเข้าสู่เขมรและเวียดนาม ตรงนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในรายละเอียดจึงต้องติดตามดูต่อไปค่ะ
ดูเพิ่มเติม
>> ตำรวจเห็นชอบ เพิ่มความเร็วมอเตอร์เวย์ 110 กม./ชม.!!!
>> รถมือสองแบบไหนถือว่าดี? .. ส่อง 6 คุณสมบัติของรถมือสองที่ดีมีคุณภาพ
ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่