อีกหนึ่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระราชพาหนะส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ยังคงสร้างความปลื้มปิติแก่พสกนิกรชาวไทยในรุ่น Toyota Soluna (โตโยต้า โซลูน่า)
อาจมีใครเคยได้เห็นรถรุ่นนี้ผ่านตากันมาบ้างกับจุดเด่นที่ตัวหนังสือและตัวเลขปิดหลัง บอกชื่อรุ่น เป็นอักษรไทยทั้งหมด เป็นรถอีกรุ่นประวัติศาตร์อันมีที่มาที่ไป
ตัวหนังสือติดท้ายรถ ของรุ่น โตโยต้า โซลูน่า ที่ใช้อักษรและตัวเลขเป็นแบบไทยทั้งหมด
ดูเพิ่มเติม :: “ชอบรถของพ่อ” พระราชาเหนือเกล้าชาวไทยกับรถพระที่นั่งสุดหายาก Mercedes-Benz 300SL Gullwing
โตโยต้าผลิตรถรุ่นพิเศษนี้มาเพียง 600 คันเท่านั้น และามารถขายหมดในเวลาเพียง 1 เดือน หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นรุ่นพิเศษที่ผลิตมาเพื่อฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แต่ความจริงแล้วจุดเริ่มต้นมาจากช่วงปี 2540 เป็นเรื่องเล่าโดย คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ช่วงที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ธุรกิจมากมายต่างล้มถูกปิดตัวลง ประชาชนตกงานจำนวนมาก รวมทั้งบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่มีข่าวลงหนังสือพิมพ์วันที่ 5 พ.ย.2540 ว่ากำลังจะปิดโรงงาน พนักงานจำนวนกว่า 5 พันคนจะต้องถูกลอยแพ
ต่อมา 6 พ.ย.2540 สิ่งพิเศษที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น ด้วยความห่วงใยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อพนักงานที่กำลังจะตกงานกันจำนวนมาก เลขานุการส่วนพระองค์ได้โทรศัพท์ถึง คุณนินนาท และแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์สั่งซื้อรถ Toyota Soluna จำนวน 1 คัน ซึ่งหลังจากทางโตโยต้าได้ทราบถึงพระราชประสงค์นี้ ก็ตั้งใจที่จะทำอะไรให้ตัวรถมีความพิเศษมากกว่า โดยออกแบบและติดชื่อรุ่น ตัวเลขเป็นแบบไทย ที่ไม่เคยมีรถรุ่นไหนเคยทำมาก่อน สิ่งนั้นคือหนึ่งความพิเศษของรถรุ่นนี้
เพียงหนึ่งประโยครับสั่งจากพระองค์ที่สร้างความปลื้มปิติและขวัญกำลังใจให้กับพนักงานของโตโยต้า และคนไทยทุกคนที่ได้รู้ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์สั่งซื้อรถยนต์โตโยต้าโซลูน่า 1 คัน โดยให้พนักงานใช้มือทำก็ได้ ไม่ต้องใช้เครื่องจักร ไม่ต้องรีบ ทรงมีรับสั่งว่า พนักงานคนไทยจะได้มีงานทำนาน ๆ”
ทีมงานโตโยต้าได้ถวายรถแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่อยู่รัชกาลที่ 9
ถึงวันที่บริษัทนำรถไปถวายแก่พระองค์ในเดือน ธันวาคม 2540 ทางโตโยต้าตั้งใจถวายแก่พระองค์อยู่แล้ว แต่พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นเช็คเงินสดจำนวน 600,000 บาท พร้อมกับมีรับสั่งให้นำเงินนี้ไปทำโครงการช่วยเหลือสังคม พร้อมพระราชทานแนวพระราชดำริ ให้โตโยต้าไปตั้งโรงสีข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนา เพราะโตโยต้ามีการบริหารจัดการที่ดี ควรตั้งโรงสีข้าวตัวอย่าง เมื่อสีข้าวได้แล้วขายในราคาสวัสดิการให้แก่พนักงาน และขายผลพลอยได้ เช่น แกลบ รำ ให้แก่เกษตรกรชุมชนที่เลี้ยงหมูและ เป็นที่มาจุดเริ่มต้นบริษัท “ข้าวรัชมงคล จำกัด”
โตโยต้าถวายรถ รุ่นแก้ไขเพื่อให้ใช้งานเหมาะกับถนนน้ำท่วมเมืองไทย
ก่อนหน้าที่ทางโตโยต้าเคยถวายรถ โตโยต้า โซลูน่า แล้วหนึ่งคันที่ติดภาษาอังกฤษปกติ แต่ได้ปรับปรุงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคในสูงขึ้นเพื่อเหมาะกับถนนเมืองไทย น้ำท่วมสูงก็ยังขับวิ่งใช้งานได้ตามพระราชดำริที่ทรงตรัสไว้แก่คณะทีมงานโตโยต้า
ข้าวรัชมงคล ถูกตั้งขึ้นในวันที่ 9 กันยายน 2542 ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อเป็นโรงสีข้าวที่ไม่มุ่งเน้นจุดประสงค์ในการค้าเพื่อกำไร แต่เพื่อการช่วยเหลือชาวนา ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน โดยบริษัท โรงสีข้าวรัชมงคล ถูกจดทะเบียนโดยโตโยต้าและมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ถือหุ้น 12% โดยรับซื้อข้าวจากชาวนาสูงกว่าราคาตลาด 10% หลังแปรรูปเป็นข้าวสารนำไปขายถูกกว่าราคาตลาด 20% ทำให้บริษัทขาดทุนมาโดยตลอด 7 ปีและมามีกำไรในปีที่ 10 ของการดำเนินงาน
ซึ่งหลังจากกราบบังคมทูลสถานะทางการเงิน ทรงมีพระราชว่า “ขาดทุน คือกำไร” ซึ่งมีความหมายว่าแม้โรงสีข้าวที่ตั้งมาจะขาดทุน แต่กำไรคือการที่เกษตรกร ชาวนา และประชนอยู่ดีมีสุข ซึ่งสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้
ไม่เพียงแค่ความพิเศษของ โตโยต้า โซลูน่า ที่ถูกผลิตมาเป็นตัวอักษรภาษาไทยในจำนวนจำกัดเท่านั้น ที่แม้กาลเวลาจะทำให้เห็นรถรุ่นนี้น้อยแล้วตามท้องถนน แต่เรื่องราวที่มาที่ไปของตัวรถรุ่นนี้ยังสามารถบอกเราชาวไทยทุกคนได้ตระหนัก ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยราษฎรไปอีกยาวนาน เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวจากมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อปวงชนล้นเกล้าชาวไทย
ที่มา :: www.prachachat.net