ตร.ขู่จยย.นัดบุกสตช.ว่อนโซเชียล นัดรวมพล จยย.หน้า สตช. 5 เม.ย. คัดค้านคำสั่งห้ามขึ้นสะพานข้ามแยก-ลอดอุโมงค์ กทม. ตร.งัด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จัดการเข้ม
ตร.ขู่จยย.นัดบุกสตช.ว่อนโซเชียล นัดรวมพล จยย.หน้า สตช. 5 เม.ย. คัดค้านคำสั่งห้ามขึ้นสะพานข้ามแยก-ลอดอุโมงค์ กทม. ตร.งัด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จัดการเข้ม
2 เม.ย. 59 กรณีกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ออกข้อบังคับให้เจ้าพนักงานจราจรห้ามไม่ให้จักรยานยนต์เดินรถบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก จำนวน 39 สะพาน และอุโมงค์ลอดทางแยก 6 อุโมงค์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม เป็นต้นไป หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 500 – 1,000 บาท ส่งผลให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ได้โพสต์ข้อความคัดค้านไม่เห็นด้วยในโลกโซเชียลจำนวนมาก พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยกเลิกมาตรการเข้มงวดดังกล่าว หรือบางส่วนเสนอให้มีการผ่อนปรนโดยห้ามเป็นช่วงเวลาก็พอ เพื่อให้รถจักรยานยนต์สามารถใช้เส้นทางร่วมได้ เพราะบางจุดเป็นเส้นทางลัดผ่านถ้าห้ามขึ้นสะพานข้ามทางแยกหรือลอดอุโมงค์ต้องขี่รถจักรยานยนต์อ้อมไปในระยะทางไกลมาก ส่วนที่ว่าคำสั่งมีขึ้นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ แต่ถ้าดูตามสถิติถือว่าไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเชื่อว่าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มีความระมัดระวังพอสมควร ล่าสุด เพจชื่อดังได้นัดรวมพลผู้ใช้รถจักรยานยนต์หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านคำสั่งดังกล่าวแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊กใช้ชื่อ “ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม” ได้โพสต์ข้อความว่า “จากการที่มีพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถจักรยานยนต์เรียกร้องกันเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทางทีมงานชมรมเห็นสมควรว่าจะนัดหมายพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ทุกท่าน รวมตัวกันยื่นหนังสือในวันที่ 5 เมษายน เวลา 11.00 น. ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเชิญพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทุกท่าน ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าวครับ
เรียนพี่น้องประชาชนและสมาชิกทุกท่าน ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม จะเป็นแกนนำช่วยเหลือผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ที่ขณะนี้ได้รับการร้องเรียนจำนวนมาก ในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งของ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่เป็นคำสั่งที่ขัดต่อพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (1) ที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ สำรวจความเห็นของประชาชน และต้องประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคำสั่งฉบับนี้เป็นคำสั่งฉบับชั่วคราว 90 วัน ก็ยังสงสัยว่าออกคำสั่งฉบับนี้มาเพื่ออะไร หรือว่าต้องการให้ประชาชนเป็นหนูลองยา? ในการอ้างว่าแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่นครบาล
ขอให้พี่น้องประชาชนแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้กันนะครับ และจะขอเชิญชวนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทุกท่าน ร่วมกันคัดค้านด้วยการแสดงสัญลักษณ์ ด้วยการผูกริบบิ้นสีดำที่กระจกรถ หรือแฮนด์รถจักรยานยนต์ของท่าน เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านคำสั่งฉบับนี้ รอการนัดหมายที่จะไปยื่นหนังสือให้กับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ออกคำสั่งฉบับนี้มา สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนผู้ใช้รถจักรยานยนต์จำนวนมาก โดยไม่เหมาะสม” ข้อความในเพจดังกล่าว ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีชาวเน็ตแชร์ข้อความจากเพจชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมจำนวนมากในโลกออนไลน์ และมีชาวเน็ตที่เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จำนวนมากเช่นกันตอบรับไปร่วมแสดงพลังในวันและเวลาดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ ได้มีผู้เข้าไปตั้งแคมเปญรณรงค์ไม่เอามาตรการดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ change.org เว็บรณรงค์สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วยพลังแห่งมวลชน โดยเชิญชวนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ร่วมลงชื่อในการแก้ไขกฎหมายจราจรที่ไม่เหมาะสมในปัจจุบัน โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้ 1. รถจักรยานยนต์สามารถวิ่งช่องทางขวาได้ เมื่อจำเป็น โดยใช้ความเร็วที่เหมาะสมกับการจราจร ไม่มีลักษณะขี่ช้ากีดขวางการจราจร 2. รถจักรยานยนต์สามารถใช้สะพาน และอุโมงค์ได้ และ 3. รถจักรยานยนต์สามารถใช้ทางหลักได้ อาทิ ถนนวิภาวดีรังสิต บางนา-ตราด บรมราชชนนี เป็นต้น
ด้าน พล.ต.ท.ศานิตย์ มหาถาวร รรท.ผบช.น. ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ถึงเหตุผลการห้ามรถจักรยานยนต์ข้ามสะพานทางแยกและลอดอุโมงค์ในกรุงเทพฯ ว่า สืบเนื่องจากปัญหาจราจรติดขัดและมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นประจำบนสะพานข้ามแยกและอุโมงค์ จึงสั่งการให้ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผบช.น. รับผิดชอบงานด้านการจราจร ตรวจสอบเส้นทางที่เกิดปัญหาการจราจรไม่คล่องตัวและเกิดอุบัติเหตุโดยออกประกาศเจ้าพนักงานจราจรในนามของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อคุ้มครองดูแลให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนนโดยเริ่มบังคับใช้วันที่ 30 มีนาคม และจะทดลองใช้ 90 วัน จากนั้นจะประชุมประเมินผลปฏิบัติและออกเป็นข้อบังคับที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“ต้องอธิบายความกัน หากทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ต้องขอความร่วมมือ ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นธรรมและเป็นกฎข้อบังคับเพื่อความสะดวกปลอดภัย ส่วนกรณีที่ประชาชนให้ความเห็นหากไม่ต้องการให้รถจักรยานยนต์ลอดอุโมงค์หรือขึ้นสะพาน ให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำจุดต่างๆ ล่าสุดได้ระดมกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนออกมาช่วยงานด้านการจราจรจำนวน 200 นาย”
ขณะที่ พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) เปิดเผยถึงกรณีชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม จะนัดหมายผู้ใช้รถจักรยานยนต์รวมตัวกันยื่นหนังสือในวันที่ 5 เมษายน ว่า ข้อบังคับดังกล่าวที่ออกมาเพื่อต้องการลดอุบัติเหตุทางถนน ยอมรับว่าอาจจะมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์บางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ แต่เจตนาจริงๆ ของการบังคับใช้กฎหมายนี้เพื่อลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ส่วนกรณีที่จะมีการนัดรวมตัวชุมนุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.เดชณรงค์ เปิดเผยว่า เป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แต่ต้องดูเงื่อนไขว่าได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญกับผู้อื่นหรือก่อให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดหรือไม่ ถ้าหากกระทำผิดเงื่อนไขก็จะใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะดำเนินการตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทบทวนข้อบังคับนี้หรือไม่และจะใช้ไปถึงเมื่อไหร่ พล.ต.อ.เดชณรงค์ เปิดเผยว่า ข้อบังคับดังกล่าว พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รรท.ผบช.น.) และทีมงานได้คิดทบทวนเป็นอย่างดีแล้วและจะต้องบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน
ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ทางการข่าวทราบว่าจะมีกลุ่มประชาชนผู้ใช้รถจักรยานยนต์รวมตัวกันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้รับทราบเรื่องนี้และเตรียมมาตรการในการรับมืออยู่แล้ว และขอเตือนอย่าทำผิด พ.ร.บ.การชุมชนในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตามมองว่าทุกคนต้องเคารพกฎหมายถึงจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบ