การแก้ไขปัญหาจราจรของในหลวง รัชกาลที่ 9!

ตลาดรถยนต์ในประเทศ | 30 ต.ค 2560
แชร์ 7

พระราชดำริเรื่องการแก้ไขปัญหาจราจรของในหลวง รัชกาลที่ 9

การขยายตัวของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ การย้ายถิ่นฐานจากต่างจังหวัดเข้าสู่เมืองหลวง ส่งผลให้การใช้ยานพาหนะในเขตเมืองเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน นอกจากจะจะทำให้เกิดปัญหารถติดในกรุงเทพฯแล้ว ปริมาณมหาศาลของรถยนต์ยังก่อให้เกิดมลภาวะที่ส่งผลต่อสุขภาพ กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยากจะแก้ไข และเป็นปัญหามาอย่างช้านานแล้ว

>>> ‘ชอบรถของพ่อ’ เจมส์ บอนด์ Volkswagen Caravelle V6 ปี 2001 รถคันสุดท้ายที่รับใช้พ่อ

>>> “ชอบรถของพ่อ” โตโยต้า โซลูน่า รุ่นภาษาไทย รถรุ่นประวัติศาตร์จากความห่วงใยของพระราชา

คณะรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลเรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก
คณะรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลเรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก

เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี ในปีพ.ศ 2514 คณะรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลเรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก และขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสรณ์น้อมเกล้าฯ ถวาย แต่เนื่องจากพระองค์ทรงคำนึงถึงประโยชน์สุขของราษฎรเสมอมา จึงมีพระราชดำริที่จะใช้โอกาสนี้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาการจราจร ทรงมีพระราชดำรัสกับรัฐมนตรีว่า "ขอเถิด อนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า และสร้างถนนที่เรียกว่า วงแหวน เพราะมันเป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว"

และโครงการถนนสายนี้ได้สร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริจากที่พระองค์ที่เคยทอดพระเนตรระบบการจราจรของสหรัฐอเมริกา เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงพระราชทานชื่อถนนว่า รัชดาภิเษก ซึ่งก็คือถนนวงแหวนรอบในในปัจจุบัน สำหรับโครงการนี้ถือได้ว่าเป็นโครงการในพระราชดำริแรกของการแก้ไขปัญหาจราจรของพระองค์

การประชุมเพื่อตัดสินเชื่อมถนนน้อยใหญ่เป็นเครือข่ายต่อเนื่องให้เป็นระบบ

การประชุมเพื่อตัดสินเชื่อมถนนน้อยใหญ่เป็นเครือข่ายต่อเนื่องให้เป็นระบบ

เมื่อมีโครงการที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจราจรเพิ่มขึ้น และสามารถระบายการขนส่งได้คล่องตัวมากขึ้นกว่าเดิม ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมมาว่า ควรจะเชื่อมถนนน้อยใหญ่เหล่านี้เป็นเครือข่ายต่อเนื่องให้เป็นระบบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดปัญหาจราจรติดขัด จึงเกิดเป็น โครงข่ายจตุรทิศขึ้น นั่นคือ การเชื่อมถนนจากฝั่งตะวันตกถึงฝั่งตะวันออก และจากทิศเหนือถึงทิศใต้ ซึ่งโครงการเหล่านี้สามารถระบายความแออัดของรถยนต์บนท้องถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามพระราชประสงค์ที่พระองค์ทรงวางไว้

อีกหนึ่งปัญหา ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงคำนึงถึงคือ ความต้องการด้านการพยาบาลเร่งด่วนบนถนนซึ่งยากจะเข้าถึงได้บนถนนที่มีรถยนต์แออัด จึงพระราชทานแนวทางและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ตำรวจจราจรจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ในปีพ.ศ 2536 โดยใช้รถจักรยานยนต์ในการปฏิบัติหน้าที่ จนถึงทุกวันนี้ และหน่วยเคลื่อนที่เร็วนั้นได้ช่วยทำคลอดและนำสตรีใกล้คลอดส่งถึงโรงพยาบาลไปแล้วกว่า 60 ราย ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินบนท้องถนนมากกว่า 100 ราย รวมถึงการซ่อมแซมยานพาหนะที่จอดเสียอยู่บนถนนอีกหลายต่อหลายครั้ง และโครงการนี้กำลังดำเนินการไปได้เป็นอย่างดี

หากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไม่มีถนนรัชดาภิเษก ไม่มีเครือข่ายจตุรทิศ เมืองหลวงของเราอาจกลายเป็นอัมพาตจนยากจะแก้ไขก็เป็นได้.

อ่านเพิ่มเติม:

>>> “ชอบรถของพ่อ” พระราชาเหนือเกล้าชาวไทยกับรถพระที่นั่งสุดหายาก Mercedes-Benz 300SL Gullwing