กลุ่มเจ้ารถ Mazda2 พร้อมเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ สคบ. กรณีปัญหาตัวรถเรื่องความผิดปกติของระบบไฟฟ้า เครื่องยนต์สะดุดและโช้คหลังรั่ว ซ่อมไม่จบ หวั่นส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุต่อผู้ใช้งาน
ป้ายร้องเรียนของผู้ใช้รถ Mazda2 ที่เข้าร้องเรียนที่ สคบ.
โดยตัวแทนผู้ใช้งานรถ Mazda2 รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล ที่ผลิตในช่วงปี 2015-2016 ทุกรุ่นย่อยของ Mazda ประเทศไทยจำนวนทั้งหมด 22 รายเข้าร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ในวันที่ 17 พฤษจิกายน 2560 พร้อมกับนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรณีที่ผู้ใช้พบอาการความผิดปกติของตัวรถทั้งระบบไฟแจ้งเตือนภายใน อาการรั่วซึมของโช้คอัพด้านหลังและเครื่องยนต์สั่นสะท้าน เร่งไม่ขึ้นที่ช่วงความเร็ว 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ดูเพิ่มเติม
>> Mazda โดนอีก! ผู้ใช้งาน CX-5 ร้องเรียนรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลอีกภายในงาน Motor Expo 2017
โดยอาการดังกล่าวนี้จะพบในรถ Mazda2 ที่ใช้งานไปในระยะ 20,000-70,000 ของเลขไมล์บนรถ และอาการยังคงไม่หายมาจนถึงปัจจุบัน โดยกลุ่มผู้ร้องเรียนขอให้ทางผู้ประกอบการหรือ Mazda ออกมาเจรจาไกล่เกลี่ยและแก้ปัญหาโดยการรับซื้อรถคืน รวมทั้งทดสอบพิสูจน์ความผิดปกติตามอำนาจกฎหมาย มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (แก้ไข ฉบับที่ 3)
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้ายื่นเอกสารแก่ สคบ.
หนึ่งในผู้ร้องเรียน นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ บอกถึงปัญหาต่างๆ ของตัวรถว่าได้เข้าไปแก้ไขที่ศูนย์บริการหลายครั้ง ทั้งเรื่องของโช้คหลังรั่วที่จะพบเจอเมื่อใช้รถไปในระยะ 2-3 เดือนแรก ระบบไฟแจ้งเตือนภายในรถ และปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลมีอาการสั่นและเร่งไม่ขึ้นช่วงความเร็วที่ 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง “เมื่อรถมีความเร็วระดับหนึ่งเครื่องจะสั่นเหมือนวิ่งอยู่บนลูกระนาด เรากังวลว่าจังหวะเร่งแซง แล้วอยู่ๆ รถเร่งความเร็วไม่ขึ้น มันเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงต่อชีวิต โดยเฉพาะผู้ใช้รถที่ไปเจอปัญหานี้ครั้งแรกบนถนนในจังหวะเร่งแซงซึ่งอันตรายมาก อยากให้ทางศูนย์มาสด้าออกมาชี้แจงถึงวิธีการแก้ไขปัญหาให้รถยนต์กลับมามีสภาพปกติ และขอให้ สคบ.มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทดสอบรถยนต์ที่เกิดปัญหาภายใน 7 วัน ตามอำนาจกฎหมาย” นาย นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเสริมว่าเรื่องนี้เป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องได้รับคำชี้แจงที่ชัดเจนจากผู้ผลิต ซึ่งหากพิสูจน์แล้วพบว่าสินค้ามีปัญหาจนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ใช้งานจริงก็จะขอให้ทาง สคบ. มีคำสั่งให้ทางผู้ผลิตรับผิดชอบโดยการรับซื้อตัวรถคืน และในขณะที่รอการทดสอบพิสูจน์นี้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังขอให้มีคำสั่งระงับการจำหน่ายรถรุ่นดังกล่าวไว้ก่อนอีกด้วย
ผู้ใช้รถ Mazda2 กว่า 22 คันเข้าร้องเรียนพร้อมยื่นเอกสารให้ Mazda ประเทศไทยรับผิดชอบกรณีปัญหาดังกล่าว
เมื่อมีกระแสข่าวการเข้าร้องเรียนในครั้งก็มีความคิดเห็นจากผู้ใช้รถ Mazda2 ออกมามากมาย พบว่าผู้ใช้รถรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลนี้ก็มีทั้งคันที่ไม่เจอปัญหาใช้งานได้ปกติ บางคันที่เจอปัญหาก็เป็นสิทธิ์ของเจ้าของรถที่สามารถเข้าร้องเรียนเรื่องปัญหาของตัวรถได้ ตัวรถมีปัญหาเกิดขึ้นได้กับทุกรุ่นอยู่ที่ว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วนั้น ช่างที่ศูนย์บริการ ‘มือถึง’ พอที่จะแก้ปัญหาซ่อมให้จบหรือไม่ จากกรณีดังกล่าวจะเห็นว่าเข้าไปให้ที่ศูนย์บริการทำการซ่อมแล้วหลายครั้งแต่ซ่อมแล้วอาการไม่หาย ต้องรอการชี้แจงและตรวจสอบจากทาง Mazda ประเทศไทยต่อไปว่าปัญหาดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากอะไร เพราะที่ตัวรถมีปัญหาตั้งแต่การออกแบบแต่แรกหรือเพราะช่างศูนย์บริการมือไม่ถึง แก้ไม่หาย เดาซุ่มซ่อมไปแต่ละจุดเองกันแน่
>> Toyota Yaris 2017 และ Mazda2 2017 ใครแน่นกว่ากัน?
>> เทียบสเป็ค Mazda2 และ Honda City 2017 รุ่นท็อปทั้งคู่ใครแน่นกว่า