‘Sky(In)active’ กลุ่มเจ้าของรถ Mazda2 ร้องเรียน สคบ. ปัญหาเครื่องสะดุดและระบบไฟฟ้า

ตลาดรถยนต์ในประเทศ | 17 พ.ย 2560
แชร์ 44

กลุ่มเจ้ารถ Mazda2 พร้อมเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ สคบ. กรณีปัญหาตัวรถเรื่องความผิดปกติของระบบไฟฟ้า เครื่องยนต์สะดุดและโช้คหลังรั่ว ซ่อมไม่จบ หวั่นส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุต่อผู้ใช้งาน

ป้ายร้องเรียนของผู้ใช้รถ Mazda2 ที่เข้าร้องเรียนที่ สคบ.

ป้ายร้องเรียนของผู้ใช้รถ Mazda2 ที่เข้าร้องเรียนที่ สคบ.

 

โดยตัวแทนผู้ใช้งานรถ Mazda2 รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล ที่ผลิตในช่วงปี 2015-2016 ทุกรุ่นย่อยของ Mazda ประเทศไทยจำนวนทั้งหมด 22 รายเข้าร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ในวันที่ 17 พฤษจิกายน 2560 พร้อมกับนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรณีที่ผู้ใช้พบอาการความผิดปกติของตัวรถทั้งระบบไฟแจ้งเตือนภายใน อาการรั่วซึมของโช้คอัพด้านหลังและเครื่องยนต์สั่นสะท้าน เร่งไม่ขึ้นที่ช่วงความเร็ว 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

ดูเพิ่มเติม

>> Mazda โดนอีก! ผู้ใช้งาน CX-5 ร้องเรียนรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลอีกภายในงาน Motor Expo 2017

 

โดยอาการดังกล่าวนี้จะพบในรถ Mazda2 ที่ใช้งานไปในระยะ 20,000-70,000 ของเลขไมล์บนรถ และอาการยังคงไม่หายมาจนถึงปัจจุบัน โดยกลุ่มผู้ร้องเรียนขอให้ทางผู้ประกอบการหรือ Mazda ออกมาเจรจาไกล่เกลี่ยและแก้ปัญหาโดยการรับซื้อรถคืน รวมทั้งทดสอบพิสูจน์ความผิดปกติตามอำนาจกฎหมาย มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (แก้ไข ฉบับที่ 3)
 

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้ายื่นเอกสารแก่ สคบ.

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้ายื่นเอกสารแก่ สคบ.
 

หนึ่งในผู้ร้องเรียน นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ บอกถึงปัญหาต่างๆ ของตัวรถว่าได้เข้าไปแก้ไขที่ศูนย์บริการหลายครั้ง ทั้งเรื่องของโช้คหลังรั่วที่จะพบเจอเมื่อใช้รถไปในระยะ 2-3 เดือนแรก ระบบไฟแจ้งเตือนภายในรถ และปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลมีอาการสั่นและเร่งไม่ขึ้นช่วงความเร็วที่ 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง “เมื่อรถมีความเร็วระดับหนึ่งเครื่องจะสั่นเหมือนวิ่งอยู่บนลูกระนาด เรากังวลว่าจังหวะเร่งแซง แล้วอยู่ๆ รถเร่งความเร็วไม่ขึ้น มันเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงต่อชีวิต โดยเฉพาะผู้ใช้รถที่ไปเจอปัญหานี้ครั้งแรกบนถนนในจังหวะเร่งแซงซึ่งอันตรายมาก อยากให้ทางศูนย์มาสด้าออกมาชี้แจงถึงวิธีการแก้ไขปัญหาให้รถยนต์กลับมามีสภาพปกติ และขอให้ สคบ.มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทดสอบรถยนต์ที่เกิดปัญหาภายใน 7 วัน ตามอำนาจกฎหมาย” นาย นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ กล่าว
 

ทั้งนี้ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเสริมว่าเรื่องนี้เป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องได้รับคำชี้แจงที่ชัดเจนจากผู้ผลิต ซึ่งหากพิสูจน์แล้วพบว่าสินค้ามีปัญหาจนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ใช้งานจริงก็จะขอให้ทาง สคบ. มีคำสั่งให้ทางผู้ผลิตรับผิดชอบโดยการรับซื้อตัวรถคืน และในขณะที่รอการทดสอบพิสูจน์นี้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังขอให้มีคำสั่งระงับการจำหน่ายรถรุ่นดังกล่าวไว้ก่อนอีกด้วย
 

ผู้ใช้รถ Mazda2 กว่า 22 คันเข้าร้องเรียนพร้อมยื่นเอกสารให้ Mazda ประเทศไทยรับผิดชอบกรณีปัญหาดังกล่าว

ผู้ใช้รถ Mazda2 กว่า 22 คันเข้าร้องเรียนพร้อมยื่นเอกสารให้ Mazda ประเทศไทยรับผิดชอบกรณีปัญหาดังกล่าว
 

เมื่อมีกระแสข่าวการเข้าร้องเรียนในครั้งก็มีความคิดเห็นจากผู้ใช้รถ Mazda2 ออกมามากมาย พบว่าผู้ใช้รถรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลนี้ก็มีทั้งคันที่ไม่เจอปัญหาใช้งานได้ปกติ บางคันที่เจอปัญหาก็เป็นสิทธิ์ของเจ้าของรถที่สามารถเข้าร้องเรียนเรื่องปัญหาของตัวรถได้ ตัวรถมีปัญหาเกิดขึ้นได้กับทุกรุ่นอยู่ที่ว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วนั้น ช่างที่ศูนย์บริการ ‘มือถึง’ พอที่จะแก้ปัญหาซ่อมให้จบหรือไม่ จากกรณีดังกล่าวจะเห็นว่าเข้าไปให้ที่ศูนย์บริการทำการซ่อมแล้วหลายครั้งแต่ซ่อมแล้วอาการไม่หาย ต้องรอการชี้แจงและตรวจสอบจากทาง Mazda ประเทศไทยต่อไปว่าปัญหาดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากอะไร เพราะที่ตัวรถมีปัญหาตั้งแต่การออกแบบแต่แรกหรือเพราะช่างศูนย์บริการมือไม่ถึง แก้ไม่หาย เดาซุ่มซ่อมไปแต่ละจุดเองกันแน่

 

>> Toyota Yaris 2017 และ Mazda2 2017 ใครแน่นกว่ากัน?
>> เทียบสเป็ค Mazda2 และ Honda City 2017 รุ่นท็อปทั้งคู่ใครแน่นกว่า