5 พฤติกรรมผิดกฎหมาย ที่เกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ใช้รถ

ประสบการณ์ใช้รถ | 29 ส.ค 2562
แชร์ 4

Chobrod รวม 5 พฤติความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการขับรถที่ผู้ใช้รถหลายคนยังไม่รู้ มาดูกันว่ามีอะไรกันบ้าง?

เคยเป็นไหม? ขับรถอยู่ดี ๆ จู่ ๆ ก็โดนตำรวจโบกมือดักกวักมือเรียกให้ไปจ่ายค่าปรับซะงั้น ยิ่งเมื่อรู้ความผิดที่ตัวเองก่อโดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว ยิ่งเกิดความรู้สึกมึนงงสับสน ว่า เอ๊ะ! ที่ผ่านมาเข้าใจผิดมาตลอดเลยหรือ? วันนี้ Chobrod จึงถือโอกาสพาส่อง 5 พฤติกรรมผิดกฎหมายที่เกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ใช้รถใช้ถนนกัน จะมีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย 

1. เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด

จัดว่าเป็นความคิดฝังหัวของคนไทยเลยว่าแยกซ้ายทุกแยก สามารถเลี้ยวผ่านไปได้ตลอด ไม่ต้องรอไฟแดง แต่จริง ๆ แล้วไม่ถูกต้องทั้งหมด กล่าวคือ หากมีป้ายสัญญาณจราจร “เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด” นั่นหมายความว่าสามารถเลี้ยวซ้ายได้ตามปกติ แต่ถ้าไม่มีป้ายดังกล่าว ต้องรอสัญญาณไฟเขียว เพื่อที่จะเลี้ยวซ้าย มิเช่นนั้น จะผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก มาตรา 51 ที่ระบุเอาไว้ว่า วรรค 1 ที่ว่า ถ้าจะเลี้ยวซ้าย

(ก) ในกรณีที่ไม่ได้แบ่งช่องเดินรถไว้ ให้ผู้ขับขี่ขับรถชิดทางเดินรถด้านซ้าย 
(ข) ในกรณีที่มีการแบ่งช่องเดินรถไว้ และมีเครื่องหมายจราจรแสดงให้เลี้ยวซ้ายได้ ให้ผู้ขับขี่ขับรถในช่องเดินรถสำหรับรถที่จะเลี้ยวซ้าย ทั้งนี้ ก่อนถึงทางเลี้ยวไม่น้อยกว่าสามสิบเมตร 
(ค) ในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ทางเดินรถด้านซ้ายสุด ให้ผู้ขับขี่ขับรถชิดช่องเดินรถประจำทางก่อนถึงทางเลี้ยวไม่น้อยกว่าสามสิบเมตร และจะเลี้ยวรถผ่านเข้าไปในช่องเดินรถประจำทางได้เฉพาะในบริเวณที่มีเครื่องหมายจราจรให้เลี้ยวรถผ่านได้เท่านั้น

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรที่ติดตั้งไว้ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 200-500 บาท แต่หากไม่มีป้ายบอก ให้หยุดรอสัญญาณไฟเขียว จนกว่าจะได้รับสัญญาพร้อมกับรถในทางเดียวกัน จึงจะสามารถขับรถต่อไปได้

​การเลี้ยวซ้าย หากไม่มีป้ายจราจรแสดงว่าให้เลี้ยวซ้ายได้ ถือว่าผิด
การเลี้ยวซ้าย หากไม่มีป้ายจราจรแสดงว่าให้เลี้ยวซ้ายได้ ถือว่าผิด

2. ขับรถไปก่อนรถในวงเวียนได้ 

เชื่อว่าผู้ขับขี่หลายคนยังไม่รู้ว่าหากขับรถอยู่นอกวงเวียน ต้องให้รถในวงเวียนไปก่อน หรือหากมาถึงวงเวียนพร้อมกับรถคันอื่น ต้องให้รถที่อยู่ทางขวามือของตนผ่านไปก่อน แต่ถ้ามีการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร หรือมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ ให้ปฏิบัติตามสัญญาณไฟหรือเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตราที่ 73 ที่ระบุเอาไว้ว่า 

ในกรณีที่วงเวียนใดได้ติดตั้งสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรนั้น ถ้าไม่มีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรตามวรรคหนึ่ง เมื่อผู้ขับขี่ขับรถมาถึงวงเวียน ต้องให้สิทธิแก่ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถอยู่ในวงเวียนทางด้านขวาของตนขับผ่านไปก่อน ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรเพื่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจรจะให้สัญญาณจราจรเป็นอย่างอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้

​หากอยู่นอกวงเวียน ควรให้รถในวงเวียนไปก่อน
หากอยู่นอกวงเวียน ควรให้รถในวงเวียนไปก่อน

3. เมื่อเจอรถฉุกเฉิน ควรขับแช่ไว้ แล้วให้แซงไปเอง 

เมื่อเจอรถฉุกเฉิน สิ่งที่หลายคนอาจจะทำคือขับรถแช่ไว้อย่างช้า ๆ แล้วให้รถพยาบาลแซงไปเอง ซึ่งนี่ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง สิ่งที่ควรปฏิบัติคือหลบหรือเบี่ยงออกให้รถพยาบาลไปก่อน หากไม่หลบจะถือเป็นการทำผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 76 ที่ระบุเอาไว้ว่า เมื่อเห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน จะต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และอาจถูกแจ้งจับฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาได้เลยทีเดียว! 

​เมื่อเจอรถฉุกเฉิน ควรหลบให้รถฉุกเฉินไปก่อน
เมื่อเจอรถฉุกเฉิน ควรหลบให้รถฉุกเฉินไปก่อน

ดูเพิ่มเติม
>> กำชับตำรวจกฎหมายใหม่ ออกใบสั่งห้ามยึดใบขับขี่ - ให้ใบสั่งส่งบ้านแทนเหน็บหน้ารถ
>> กฎหมายน่ารู้วันนี้! “เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด” ที่ได้ยินมานั้นถูกต้องจริง หรือมั่วนิ่ม?

4. ขับรถแช่เลนขวาด้วยความเร็วตามกำหนดได้

พฤติกรรมบนท้องถนนอีกอย่างที่ผู้ใช้รถยังคงเข้าใจผิด คือ หากขับรถด้วยความเร็วตามกำหนดจะสามารถแช่เลนขวาได้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ได้! เพราะตามกฎหมายแล้วช่องเดินรถด้านขวา หรือเลนขวา มีไว้สำหรับแซงเท่านั้น ทั้งนี้ รถทุกคันต้องเดินรถด้านซ้าย มิเช่นนั้น จะถือว่าผิดกฎหมายการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตราที่ 34 และ 35 ที่ระบุไว้ว่า

มาตรา 34 ในการใช้ทางเดินรถที่ได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป หรือที่ได้จัดช่องเดินรถประจำทางไว้ในช่องเดินรถซ้ายสุด ผู้ขับขี่ต้องขับรถในช่องซ้ายสุดหรือใกล้กับช่องเดินรถประจำทาง เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ ให้เดินทางขวาของทางเดินรถได้ 

(1) ในช่องเดินรถนั้นมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร 
(2) ทางเดินรถนั้น เจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียว 
(3) จะต้องเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วมทางแยก 
(4) เมื่อจะแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น 
(5) เมื่อผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูงกว่ารถในช่องเดินรถด้านซ้าย 
หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 200-500 บาท

มาตรา 35 รถที่มีความเร็วช้าหรือรถที่มีความเร็วต่ำกว่าความเร็วของรถคันอื่นที่ขับในทิศทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้ายเท่าที่จะกระทำได้ผู้ขับขี่รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร รถจักรยานยนต์ในทางเดินรถซึ่งได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป หรือได้จัดช่องเดินรถประจำทางด้านซ้ายไว้โดยเฉพาะ ต้องขับรถในช่องเดินรถด้านซ้ายสุดหรือใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทางแล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืน ไม่ทำตามกฎจราจรที่ระบุไว้มีโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท

​ห้ามขับรถแช่เลนขวา
ห้ามขับรถแช่เลนขวา

5. แซงรถบนไหล่ทางได้

ไหล่ทางคือเส้นทึบสีขาวที่ถูกลากเป็นแนวยาวเอาไว้ริมถนน มีไว้เพื่อเป็นที่จอดพักรถในกรณีที่เกิดเหตุต่าง ๆ อาทิ รถเสีย, เกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ แต่ผู้ขับขี่หลายคนกลับคิดว่าไหล่ทาง คืออีกช่องทางหนึ่งที่สามารถใช้ได้ และใช้บริเวณไหล่ทางนี้ทำการ “แซงซ้าย” อยู่เป็นประจำ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว สามารถแซงได้ แต่ต้องมีเหตุจำเป็นเท่านั้น โดยต้องให้สัญญาณไฟกะพริบ, ไฟสัญญาณยกเลี้ยวขวา หรือให้เสียงสัญญาณดังพอที่จะให้ผู้ขับขี่ด้านหน้ารับรู้ จึงจะแซงได้ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตราที่ 44 ว่าด้วยการขอขับเเซง มาตรา 45 ว่าด้วยการแซงซ้าย ที่ระบุเอาไว้ ดังนี้ 

มาตรา 44 ผู้ขับขี่ซึ่งประสงค์จะขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นในทางเดินรถ ซึ่งไม่ได้แบ่งช่องทางเดินรถไว้ ต้องให้สัญญาณโดยกะพริบไฟหน้าหลายครั้ง หรือให้ไฟสัญญาณยกเลี้ยวขวา หรือให้เสียงสัญญาณดังพอที่จะให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถคันหน้าให้สัญญาณตอบตามมาตรา 37 (3) หรือมาตรา 38 (3) และเมื่อเห็นว่าไม่เป็นการกีดขวางรถอื่นที่กำลังแซงแล้ว จึงจะแซงขึ้นหน้าได้ 

การแซงต้องแซงด้านขวาโดยมีระยะห่างจากรถที่ถูกแซงพอสมควร เมื่อเห็นว่าได้ขับผ่านขึ้นหน้ารถที่ถูกแซงไปในระยะที่ห่างเพียงพอแล้วจึงจะขับชิดด้านซ้ายของทางเดินรถได้ ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท 

มาตรา 45 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นด้านซ้าย เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ 

(1) รถที่จะถูกแซงกำลังเลี้ยวขวาหรือให้สัญญาณว่าจะเลี้ยวขวา 
(2) ทางเดินรถนั้นได้จัดแบ่งเป็นช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป การขับรถแซงด้านซ้ายตาม (1) หรือ (2) จะกระทำได้เมื่อไม่มีรถอื่นตามมาในระยะกระชั้นชิดและมีความปลอดภัยพอ แต่ถ้ามีผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท 

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นพฤติกรรมที่ผู้ใช้รถใช้ถนนมักฝ่าฝืนกฎหมายด้วยความไม่รู้และความเคยชิน ทำให้บางครั้งใบสั่งก็ไปอยู่หน้ารถโดยไม่ทันตั้งตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้แล้วอย่าลืมทำให้ถูกกฎหมาย ไม่เช่นนั้นอาจเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลาโดยใช่เหตุ ด้วยความหวังดีจาก Chobrod   

​ไม่ควรขับรถแซงบนไหล่ทาง
ไม่ควรขับรถแซงบนไหล่ทาง

ดูเพิ่มเติม
>> พวกขับช้าแช่ขวาเตรียมโดนจับ พร้อมเพิ่มความเร็ว 120 กม./ชม.บนทางหลวง
>> รวม 5 เรื่องผิดกฎหมาย ที่มักจะเกิดจากการกระทำที่เข้าใจผิด!

ติดตามข่าวสารรถยนต์ คลิกที่นี่
ต้องการซื้อ รถมือสอง สภาพดี เชิญเข้าดูที่ ตลาดรถ ตรงนี้

M.BABE