มีเงินก้อน โปะค่างวดรถ หรือปิดดี จ่ายเกินยอดคุ้มกันหรือเปล่า?

ประสบการณ์ใช้รถ | 14 ส.ค 2563
แชร์ 14

วิเคราะห์เจาะประเด็นน่ารู้ สำหรับการชำระค่างวดรถ ถ้าจ่ายมากกว่ายอดเรียกเก็บจะดีไหม? แล้วถ้าต้องการปิดยอดจะได้ส่วนลดเท่าไหร่ โปะค่างวดรถ จะคุ้มหรือเปล่า

ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเป็นหนี้ หรือถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องมีหนี้ ก็คงไม่มีใครอยากจะค้างหนี้นาน ๆ ดังเช่นกรณีซื้อรถ ที่หลาย ๆ คนก็เลือกวิธีจ่ายดาวน์แล้วผ่อนชำระไปจนครบกำหนด ซึ่งค่างวดแต่ละเดือนนั้น เมื่อถอดดอกเบี้ยออกมาลองคำนวณดู ก็จะมองเห็นจำนวนเงินก้อนใหญ่ หลายคนที่เมื่อเกิดมีเงินก้อนขึ้นมา จึงมีความคิดที่อยากจะส่งรถให้หมดอาจจะไม่ปิดยอดไปในคราวเดียว แต่ใช้วิธีเพิ่มจำนวนเงินที่จ่าย เพื่อหวังว่ายิ่งจ่ายให้หมดเร็วจำนวนเงินที่จะต้องเสียในส่วนของดอกเบี้ยอาจจะลดลงบ้าง ดังนั้นการโปะค่างวดรถจึงเป็นอีกวิธีที่หลายคนอาจจะอยากรู้ว่าจะคุ้มหรือเปล่า ?

มีเงินก้อน โปะค่างวดรถ
มีเงินก้อนโปะค่างวดรถดีไหม?

แต่ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อน อย่าเพิ่งสับสน เพราะดอกเบี้ยค่างวดรถไม่ได้เป็นแบบลดต้นลดดอกเหมือนดอกเบี้ยบ้าน ดังนั้นต้องมานั่งคำนวณดูให้ดี ๆ ว่า การชำระค่างวดที่หวังจะให้ค่าใช้จ่ายเดือนถัดไปเบาบางลง อาจจะไม่ได้มีผลอะไรกับการจ่ายครั้งนี้ วันนี้ Chobrod จะมาพามาแตกประเด็น เรื่องการโปะค่างวดรถและการปิดรถ ในกรณีที่คุณมีเงินก้อน ต้องบริหารอย่างไรถึงจะคุ้ม ?

ทำความรู้จักกับดอกเบี้ยรถยนต์

สิ่งแรกที่คุณผ่อนรถต้องรู้ คือดอกเบี้ยรถยนต์แตกต่างจากดอกเบี้ยสินเชื่อแบบอื่นที่จะเป็นรูปแบบลดต้นลดดอก เพราะดอกเบี้ยรถยนต์นั้นเป็นดอกเบี้ยที่เรียกว่า Fixed Rate หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม ดอกเบี้ยคงที่ ที่จะมีอัตราที่กำหนดเอาไว้เป็นค่าตายตัว ไม่ขึ้นหรือลงตามต้นทุนของสถาบันการเงิน จะเป็นตัวเลขที่ถูกคำนวณมาแบบคงที่ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างอายุสัญญาสินเชื่อหรือในช่วงเวลาที่กำหนด ถึงแม้จะมีการส่งยอดเต็มในทุก ๆ เดือน แต่จะไม่มีการหักหรือลดหลั่นดอกเบี้ยลงไป

ตัวอย่างการคิดคำนวณดอกเบี้ยคงที่ของรถยนต์

นาย C ทำการเช่าซื้อรถยนต์กับทางสถาบันแห่งหนึ่ง มูลค่า 754,000 โดยทางนาย C ได้ทำการวางเงินดาวน์ไปประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของราคารถ และมีโปรโมชั่นดอกเบี้ยต่อปีอยู่ที่ 2.19 เปอร์เซ็นต์ ให้ทำการหายอดจัดโดยมีวิธีคิดดังนี้

โปะค่างวดรถ ดอกเบี้ยลดไหม
วิธีการคิดคำนวณหาดอกเบี้ยรถยนต์

ยอด 1,171.65 หรือตีเป็น 1,172 คือดอกเบี้ยคงที่ต้องชำระทุกเดือน ไม่มีการลดหย่อนให้ถึงแม้ต้นจะลดลงไปทุกเดือน นี่คือดอกเบี้ยแบบ Fixed Rate

ดูเพิ่มเติม
>> สินเชื่อรถยนต์คืออะไร ? รู้เอาไว้สำหรับคนใช้รถ
>> เป็นคนไม่เคยมีเครดิต จัดไฟแนนซ์มีสิทธิ์ผ่านไหม?

จ่ายค่างวดรถยนต์แบบโปะคุ้มหรือไม่?

หลาย ๆ คนที่รับภาระผ่อนรถยนต์อยู่ แล้วมีสภาพคล่องทางการเงินขึ้นมาในภายหลัง อาจจะเป็นเพราะได้เลื่อนตำแหน่ง หรือมีรายรับจากงานพิเศษ ทำให้รายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้น แล้วมีความคิดที่อยากจะนำเงินมาส่งค่างวดลดในจำนวนที่มากกว่าค่าเรียกเก็บ จ่ายแบบทบไป หรือแบบโปะไป ด้วยหวังว่ามันจะมีผลต่อการช่วยลดค่าใช้จ่ายลงหรือไม่ เราขอบอกเอาไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่มีผล ยอดที่คุณยังจะต้องจ่ายกับทางสถาบันการเงินก็ยังเป็นคงยอดเดิม ดอกเบี้ยเท่าเดิม แต่ถ้าคุณจะจ่ายทบหรือเบิ้ลค่างวดไปเรื่อย ๆ ย่อมได้ สิ่งที่คุณได้กลับมาคือการที่คุณลดภาระการส่งงวดสุดท้ายเท่านั้นเอง เป็นเพียงแค่การจ่ายให้เร็วขึ้นแต่ไม่มีผลใด ๆ ต่อยอดเงินรวม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่าง คุณต้องส่งค่างวดทั้งหมด 60 งวด งวดละ 11,872 บาท คุณส่งค่างวดไปแล้ว 30 งวด งวดที่ 31 มีความคิดที่จะจ่ายเพิ่มอีกเดือนละ 2,000 บาท

  • เหลือยอดต้องส่งอีก 356,160 บาท
  • จากเดือนละ 11,872 กลายเป็น 13,872 บาท
  • งวดต่อ ๆ ไป กลายเป็นว่าคุณชำระยอด 13,872 ไปถึงงวดที่ 55 คำนวณได้จากนำยอดทั้งหมด (346,800) มาหารกับค่างวดที่ส่งต่อเดือน (13,872) ได้เป็น 25 แล้วนำไปบวกกับจำนวนเดือนที่ส่งไปแล้วคือ 30 จึงนับว่าเป็นงวดที่ 55
  • งวดที่ 56 คุณก็จะจ่ายเพียงแค่ 356,160-346,800 = 9,360

หมายความว่าคุณต้องจ่ายค่างวดบวกกับจำนวนเงินที่เพิ่มไปแล้วไปถึงเพียงงวดที่ 55 เท่านั้น จากนั้น งวดที่ 56 ก็จ่ายยอดสุดท้ายไปด้วยยอดที่เหลือ เท่ากับว่าคุณจะลดภาระการส่ง 4 งวดสุดท้ายไปนั่นเอง ซึ่งจำนวนเงินและดอกเบี้ยก็ไม่ได้ถูกลดอะไรไป การจ่ายแบบโปะจึงเป็นแค่เพียงการช่วยลดภาระในตอนท้ายเท่านั้นเอง

โปะค่างวดรถ ดีไหม
การโปะค่างวดไม่ได้มีผลใด ๆ ต่อจำนวนเงิน

และนั่นคือเหตุผลที่คนผ่อนรถยนต์หลายคน เลือกที่จะส่งค่างวดเท่าเดิม ไม่ได้คิดจะรีบเร่งให้หมดภาระหนี้สินใด ๆ โดยเร็ว เพราะผลลัพธ์สุดท้ายแตกต่างกันเพียงแค่เรื่องของเวลาที่ร่นลงมาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง แต่ถ้าใครมีเงินก้อนและอยากผ่อนรถให้หมดไว ๆ ด้วยหวังว่าจะลดค่าใช้จ่ายลงบ้าง สามารถทำได้ด้วยการปิดบัญชี

ปิดบัญชีรถได้ส่วนลดเท่าไหร่

วิธีคิดง่าย ๆ ให้หายอดที่เหลือและถอดดอกเบี้ยที่จะส่งต่อออกมา จากนั้นนำมาหาส่วนลด 50% แล้วนำมาดอกเบี้ยที่หาได้มารวมกับยอดรถที่เหลือ ดังนี้

คำนวณโปะค่างวดรถ
วิธีคิดคำนวณส่วนลดกรณีที่ต้องการปิดยอด

จากรูปภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่า เราจะได้รับส่วนลดอยู่ประมาณนึง ซึ่งหากคุณพอจะมีกำลังทรัพย์ที่จะปิดค่างวดทั้งหมดได้ก่อน ทางสถาบันการเงินจะช่วยซัพพอร์ตและคืนสิทธิ์ตรงนี้ให้กับคุณ ซึ่งหลายคนก็อาจจะมองว่าความคุ้มค่าไม่แตกต่างกัน หรือมองว่าไม่คุ้มเลย เพราะในเมื่อเราสามารถส่งงวดที่เหลือที่ได้หมดก่อน เหตุใดจึงยังต้องเสียค่าดอกเบี้ย นั่นคือสิ่งที่ผู้กู้สินเชื่อต้องทำความเข้าใจว่าคุณเองก็ได้ตกลงทำสัญญากับทางผู้ให้กู้ไปแล้ว ดังนั้นก็ควรที่จะยอมรับข้อตกลงนี้ ถึงแม้คุณจะส่งหมดก่อนจำนวนค่างวดที่กำหนดก็ตาม และทางผู้ให้กู้เองที่ให้ส่วนลดนั่นก็คือว่าเขาได้พยายามช่วยเหลือและนับสนุนตรงนี้เต็มที่แล้ว

และเพราะเหตุนี้ ผู้กู้สินเชื่อรถหลายคนจึงเลือกที่จะไม่ปิดรถหรือจ่ายค่างวดแบบโปะ เพราะว่าการโปะเองไม่ได้มีผลต่อจำนวนเงินที่เพิ่มหรือลดลงแต่อย่างใด เป็นเพียงการช่วยเรื่องของการลดระยะเวลาในการชำระงวดหลัง ๆ เพียงเท่านั้น และการปิดรถเอง ในเมื่อยังคงมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากที่ค้างอยู่ถึงแม้จะปิิดต้นหมดก็ตาม

นั่นก็ถือว่าเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่หลายคนก็เลือกที่จะยังส่งค่างวดต่อไป เพื่อให้ดูคุ้มที่จะต้องจ่ายส่วนที่เหลือต่อไป แต่ถ้ามีกำลังทรัพย์มากพอที่อยากจะปิดค่างวดได้เลย แนะนำให้ทำการปิดไปเลยก็เป็นการดีกว่า เพราะจะช่วยเซฟเงินได้บ้างส่วน แม้จะเล็กน้อยก็ตาม

ดูเพิ่มเติม
>> สินเชื่อรถใหม่ ที่ไหนดี ? แนะนำ 5 บริษัทน่าเชื่อถือ อัปเดต 2563

>> รู้ไว้ได้ประโยชน์ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

ติดตาม ข่าวรถยนต์ใหม่ ได้ที่นี่
ติดตามเรื่อง รีวิวรถยนต์ใหม่ ได้ที่นี่
ติดตามเรื่อง ราคารถยนต์ใหม่ๆ ได้ที่นี่
เข้าดู ราคารถมือสอง ได้ที่นี่

ANNOiNA
Avatar

ANNOiNA

บรรณาธิการ
ทุกอย่างมีเหตุและผลของมันเสมอ