รถ Concept Car มีไม่กี่คันในโลก ราคาประมาณเท่าไร

ประสบการณ์ใช้รถ | 7 พ.ย 2561
แชร์ 0

รถยนต์ที่เราใช้ๆกัน ส่วนใหญ่แนวคิดในการผลิตมาจากรถยนต์คอนเซ็ปท์ ซึ่งเป็นรถที่รวบรวมแนวคิดของการพัฒนารถยนต์ในช่วงเวลานั้นๆเข้าไว้ด้วยกัน จากนั้นก็ถ่ายทอดแนวคิดต่างๆมาสู่รถยนต์ที่จะออกขายจริง อาจจะทั้งหมดทุกฟังก์ชั่น หรือแค่บางส่วน ทั้งนี้ขึ้นกับความต้องการของตลาดด้วย

ถ้าวันว่างๆวันหนึ่งคุณเกิดอยากกินราเมนร้อนๆสักชามหนึ่ง แต่คุณหากินแถวบ้านไม่ได้เลย คุณจึงเกิดไอเดียที่อยากจะทำราเมนขึ้นมากินเองสักชาม คุณเดินหาซื้อวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นเส้นราเมน, กระดูกหมู, ผักต่างๆ เพื่อนำมาต้มน้ำซุปเคี่ยวให้ข้น ผ่านกระบวนการต่างๆ และใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงกว่าจะได้น้ำซุปที่ได้ที่พร้อมกับเส้นอันอ่อนนุ่ม ออกมาเป็นราเมนแสนอร่อยหนึ่งชาม หนึ่งชามที่คุณทำกินเองนี้หมดเงินไปมากพอดู อาจจะไม่ต่ำกว่า 500บาท สำหรับการหาซื้อวัตถุดิบต่างๆ เท่ากับว่าราเมนชามนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 500บาท แต่ถ้าคุณสามารถนำวัตถุดิบที่เหลืออีกมาทำเป็นราเมนชามอื่นๆได้อีกและนำออกขาย ก็คงทำให้ต้นทุนโดยรวมต่อชามถูกลงไปอีกเพราะว่าจะได้เงินจากชามอื่นๆมาชดเชย ขายได้หลายชามต้นทุนต่อชามอาจเหลือไม่ถึง100บาท เฉกเช่นเดียวกันกับการผลิตรถยนต์ ถ้ายิ่งผลิตออกมาขายได้มากก็คงทำให้ราคาต้นทุนต่อคันต่ำลง แต่ถ้าขายแค่คันเดียวล่ะ มันจะทำให้ต้นทุนมีราคาสูงขนาดไหน เปรียบเหมือนรถยนต์คอนเซ็ปท์ที่ผลิตออกมาไม่กี่คัน บางรุ่นก็คันเดียวในโลก มูลค่าของมันจะเป็นเท่าไรกันนะ

ทำไมรถยนต์ในท้องตลาดราคาจึงพอรับได้

เหตุผลที่รถยนต์ที่เราขับในแต่ละวันมีราคาไม่แพงเกินไป อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ เพราะว่าตั้งแต่เริ่มต้นคือการออกแบบรถยนต์ ออกแบบชิ้นส่วน ออกแบบกระบวนการผลิต สามารถทำให้รองรับการผลิตได้ในโมเดลนั้นๆเป็นหมื่นๆคันตั้งแต่เข้าสู่ไลน์การผลิตจนกระทั่งออกมาถึงดีลเลอร์ รถยนต์ทุกคันจะทำกำไรกลับมาแชร์ต้นทุนกันไปทำให้มูลค่าต่อคันถูกลงเรียกว่า Economies of Scale

รถยนต์ยิ่งผลิตมากยิ่งมีต้นทุนที่ถูกลง

รถยนต์ยิ่งผลิตมากยิ่งมีต้นทุนที่ถูกลง

แล้วรถยนต์คอนเซ็ปท์ราคาต่อคันประมาณเท่าไร

รถยนต์คอนเซ็ปท์ เป็นรถยนต์ที่ไม่ได้ทำออกมาขายแก่บุคคลทั่วไปและก็เป็นคันแรกของโลก ไม่จำเป็นต้องทำออกมาหลายคันส่วนใหญ่ทั่วทั้งโลกอาจจะมีแค่หนึ่งหรือสองคันเท่านั้น ระบบต่างๆภายในก็อาจจะยังไม่สมบูรณ์ แต่มีจุดประสงค์ในการนำเสนอการออกแบบทั้งภายในภายนอกหรือเทคโนโลยีใหม่หลักๆก่อนออกมาขายในตลาดจริงๆ รถคอนเซ็ปท์พวกนี้มักจะอยู่ในงานมอเตอร์โชว์หรืองานโชว์ใหญ่ๆระดับชาติ ไม่แม้แต่จะไปอยู่ในโชว์รูม

ดูเพิ่มเติม
>> 
Polestar อยากเห็นรถตัวเองบนถนน 4 รุ่นภายในปี 2020
>> การทดสอบการชนของ Polestar 1 รถที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ วัสดุที่จะกลายเป็นอนาคตของโครงสร้างรถยนต์

ส่วนคำถามที่ว่าราคาต่อคันเท่าไรนั้น คำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบยากเพราะว่ารถยนต์คอนเซ็ปท์แต่ละคันก็ไม่เหมือนกันในรายละเอียด เช่นบางคันมีแต่ภายนอกยังไม่มีเครื่องยนต์ บางคันก็พอจะเคลื่อนที่ได้แต่ระบบไฟยังไม่สมบูรณ์ หรือบางคันก็สมบูรณ์พอที่จะมาโลดแล่นบนถนนได้ (พวกนี้ยิ่งแพง) แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็เริ่มจากการวาดโครงร่าง สร้างเป็นพิมพ์เขียว เอาลงคอมพิวเตอร์ สร้างชิ้นส่วน สร้างเป็นรถปลอมๆที่ทำจากดินเพื่อจะได้ตัดแต่งรูปร่างและลงสีได้ โดยส่วนใหญ่ที่ผู้ผลิตต่างๆใช้งบประมาณในการผลิตรถยนต์คอนเซ็ปท์จะอยู่ที่ราวๆ 10ล้านบาทไปจนถึงกว่า 200ล้านบาท ซึ่งระดับหลักร้อยล้านอาจจะเริ่มเคลื่อนที่ได้แล้ว ไม่สามารถบอกเป็นราคาชัดๆได้จริงๆว่าราคาคันนี้จะเท่าไร คันนั้นจะเท่าไร เพราะว่าแต่ละคันแม้แต่เป็นคอนเซ็ปท์ก็ยังมีระบบที่ทำงานได้ไม่เท่ากัน แต่โดยพื้นฐานช่วงราคาจะประมาณนี้

รถยนต์คอนเซ็ปท์อะไรก็ดูใหม่ดูสวยไปหมดรวมถึงภายใน

รถยนต์คอนเซ็ปท์อะไรก็ดูใหม่ดูสวยไปหมดรวมถึงภายใน

การออกแบบรถยนต์คอนเซ็ปท์

รถยนต์คอนเซ็ปท์จุดประสงค์หลักคือโชว์รูปลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน การใช้ดินมาทำเป็นรูปร่างรถยนต์ขนาดจริงเป็นสิ่งที่นักออกแบบรถยนต์มักใช้กัน เพราะว่าจะเห็นรูปร่างได้เหมือนคันจริง สามารถตัดแต่งเพิ่มเติมได้ง่าย ที่สำคัญให้ความรู้สึกเดียวกับรถยนต์จริงที่จะออกขายมากกว่ามองจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ รถยนต์คอนเซ็ปท์พวกนี้ไม่ได้เน้นให้เคลื่อนที่ได้ ต้องการให้สื่อ นักข่าว รวมไปถึงลูกค้าได้เห็นรูปลักษณ์ของคอนเซ็ปท์ที่ต้องการจะสื่อ ดังนั้นความสวยงามและชัดเจนของชิ้นส่วนที่ต้องการสื่อจึงสำคัญกว่าระบบภายในของเครื่องยนต์เช่นระบบส่งกำลัง เครื่องยนต์ ระบบช่วงล่าง สายไฟ พวกนี้ถ้าผู้ผลิตลดต้นทุนได้ก็จะลดให้มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องทุ่มงบประมาณลงไปมากนัก เช่นใช้ชิ้นส่วนของรถยนต์ที่มีอยู่แล้วในตลาดปัจจุบันและปรับแต่งนิดหน่อยเพื่อให้เข้ากันได้กับรถยนต์คอนเซ็ปท์ ถึงแม้จะพูดว่าปรับแต่งนิดหน่อยแต่ก็ใช่ว่าจะนำมาต่อกันได้ง่ายๆเพราะชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมีขนาดและรูปทรงที่ใช่ว่าจะเอามายัดลงรถยนต์กันได้ตรงๆ และกว่าจะหาชิ้นที่เข้ากันได้ก็ต้องใช้เวลา

การออกแบบในช่วงแรกๆของรถยนต์มีการใช้ดินมาทำเป็นต้นแบบ

การออกแบบในช่วงแรกๆของรถยนต์มีการใช้ดินมาทำเป็นต้นแบบ

นอกจากเรื่องของระบบเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลังและส่วนอื่นๆที่มักไม่ได้นำออกแสดงให้ผู้คนได้เห็นของรถยนต์คอนเซ็ปท์ ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือรูปลักษณ์ภายนอกและภายใน ที่ทุกวันนี้มีระบบ 3D Printing เข้ามาช่วยทำให้ต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนของรถยนต์คอนเซ็ปท์มีราคาลดลง ในความเป็นจริง 3D Printing มีใช้กันมานานในวงการพัฒนารถยนต์ร่วมๆ10ปีแล้ว และค่ายที่มีประสบการณ์ในวงการ 3D Printing ก็คือ Daimler และ BMW และยังมีการนำมาใช้ในรถยนต์คอนเซ็ปท์ด้วย

รถยนต์คอนเซ็ปท์คันแรกของโลก

สำหรับรถยนต์คอนเซ็ปท์มีมาเนิ่นนานตั้งแต่ปี 1940 บริษัท General Motors เป็นรายแรกที่ได้สร้างรถยนต์คอนเซ็ปท์ขึ้นมา มันมีชื่อว่า Buick Y-Job ออกแบบโดยนักออกแบบชาวอเมริกันที่ชื่อว่า Harley J. Earl จุดเด่นของรถยนต์คันนี้คือ มีแนวคิดคอนเซ็ปท์ต่างๆที่แปลกตาในสมัยนั้น เช่น ไฟหน้าที่ซ่อนเอาไว้ ฝากระโปรงหน้าที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ กระจกไฟฟ้า และกันชนใหญ่เด่นชัด กระจังหน้าลายเส้นตรงในแนวตั้งคล้ายน้ำตก และก็สามารถขับได้จริงด้วยในตอนนั้น ด้วยเครื่องยนต์ขนาด 5.2ลิตร ส่วนชื่อที่มีอักษร Y อยู่นั้น ใช้แทนความล้ำหน้าที่ต่อจากตัวอักษร X ในภาษาอังกฤษ เพราะรถยนต์ที่ยังไม่ออกขายในเวลานั้นและยังพัฒนาวิจัยอยู่จะใช้ตัว X เรียกแทนชื่อ (เพราะยังไม่ได้ระบุชื่อที่จะขายจริง)

รถยนต์คอนเซ็ปท์คันแรกของโลก Buick Y-Job

รถยนต์คอนเซ็ปท์คันแรกของโลก Buick Y-Job

รถยนต์คอนเซ็ปท์คันแรกของโลก Buick Y-Job

เพื่อนๆชาว Chobrod คงจะรู้จักรถยนต์คอนเซ็ปท์มากขึ้นแล้วนะครับ ด้วยความที่มันยังเป็นคอนเซ็ปท์ไม่ได้ขายจริง ก็อาจทำให้ระบบบางอย่างยังไม่สามารถใช้งานได้จริง ต้นทุนในการผลิตก็จะแตกต่างกันไปด้วย แต่จุดประสงค์สำคัญของรถแบบนี้ก็คือต้องการจะสื่อถึงแนวคิดของผู้ผลิตว่ามีแนวคิดใหม่ๆอะไร ไม่เพียงแต่จะแค่ทดสอบการตอบรับจากผู้บริโภคเท่านั้นแต่ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์อีกด้วย ว่ามีศักยภาพในการผลิตเทคโนโลยีต่างๆมากน้อยแค่ไหน

ดูเพิ่มเติม
>> 
มาดู Nissan Z Concept รุ่นใหม่ !!
>> เมืองไทยอาจใช้เยอะ! Hyundai เผยโฉมเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์

ติดตามข่าวสารรถยนต์ เชิญที่นี่  
อ่านรีวิวรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์  เชิญที่นี่