ขนส่งเตือน ระวังรถโอนลอย อาจเสี่ยงผิดกฎหมาย จะซื้อขายรถ ต้องดู!

ประสบการณ์ใช้รถ | 1 ธ.ค 2561
แชร์ 1

ก่อนจะซื้อรถมือสองเช็กดูให้ดี ๆ เสียก่อน เพราะกรมขนส่งออกมาเตือนแล้วว่าไม่ควรซื้อขายรถโอนลอย เพราะเสี่ยงเป็นรถผิดกฎหมาย มาทำความเข้าใจกันว่า โอนลอยคืออะไร

โอนลอยคืออะไร?  การโอนลอยรถนั้น ก็เหมือนกับการโอนรถปกติ คือคนขายจะส่งต่อรถยนต์ให้กับผู้ซื้อไปพร้อมกับใบคำขอโอนและใบรับโอนที่ต้องมีการลงลายมือชื่ออย่างถูกต้อง แนบไปกับเอกสารสำคัญตามที่กำหนด แต่การโอนลอยจะเป็นการที่ไม่ไปจดทะเบียนการโอนที่สำนักงานขนส่ง จะกลายเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อรถยนต์ที่จะต้องไปทำเรื่องทั้งหมดเองเพื่อให้การซื้อขายสมบูรณ์

ขนส่งเตือน ระวัง รถสวมทะเบียน

งานนี้นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก(ทบ.) เปิดเผยว่า ปัญหาการหลอกลวงประชาชนโดยนำรถสวมทะเบียนมาหลอกขาย มักเกิดขึ้นกับการซื้อขายรถมือสองด้วยวิธีการโอนลอยที่ผู้ซื้อไม่นำรถไปดำเนินการตรวจสภาพรถและจดทะเบียนด้วยตนเองตามขั้นตอนของกรมการขนส่งทางบก ทำให้เกิดช่องว่างให้กลุ่มมิจฉาชีพนำรถโจรกรรมมาหลอกขายได้โดยง่าย

ระวังมิจฉาชีพ เมื่อซื้อขายโอนรถโอนลอย
ขนส่งแนะ ระวังมิจฉาชีพ หากซื้อรถโอนลอย

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยและพิทักษ์สิทธิของประชาชน กรมการขนส่งทางบกจึงแนะนำให้ผู้ซื้อรถควรดำเนินการโอนทะเบียนรถด้วยตนเองและควรตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับตัวรถโดยละเอียด โดยสามารถขอหลักฐานทะเบียนรถจากเจ้าของรถหรือผู้ขายมาขอตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นที่สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือสำนักงานขนส่งสาขา และเพื่อเพิ่มความมั่นใจยิ่งขึ้นสามารถนำรถเข้ามาตรวจสอบความถูกต้อง ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือสำนักงานขนส่งสาขาที่รถนั้นจดทะเบียนไว้

พบเห็นให้แจ้ง ป้องกันการเป็นเหยื่อ

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เข้มงวดกวดขันการตรวจสภาพรถตามรายการที่กำหนดทุกคัน เพื่อป้องกันไม่ให้รถผิดกฎหมายดำเนินการทางทะเบียนได้โดยเด็ดขาด ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะมีการระงับการดำเนินการทางทะเบียนที่ไม่ถูกต้องทันที

ประกาศเตือน ซื้อขายรถโอนลอยจากกรมขนส่ง
ประกาศเตือนจากกรมขนส่งทางบก

และหากประชาชนพบเห็นรถต้องสงสัยสามารถแจ้งข้อมูลมายังกรมการขนส่งทางบก หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพและหากนำรถไปใช้อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานปลอมแปลงหรือใช้เอกสารราชการปลอม ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี ปรับสูงสุด 10,000 บาท

ดูเพิ่มเติม
>> เอกสารที่ต้องห้ามพลาด เมื่อซื้อ-ขายรถยนต์มือสอง

>> วิธีซื้อรถมือสองให้เหมือนได้รถมือหนึ่ง

เอกสารต้องแน่ชัด ที่มาของรถชัดเจน

นายกมลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกครั้งในการซื้อ-ขาย รถมือสอง ทั้งผู้ซื้อหรือผู้ขาย ต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถ ตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วนเพื่อการซื้อขายที่ถูกต้อง โดยเฉพาะสมุดคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถ ต้องตรงกับรถคันที่จะซื้อขายทุกอย่าง

ซื้อขายรถมือสอง ต้องแน่ใจว่ารถถูกกฎหมาย
การซื้อขายทุกครั้ง ต้องตรวจสอบหลักฐานรถให้ครบถ้วน

รวมถึงควรตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีรถประจำปีครบถ้วนถูกต้อง พร้อมนำรถเข้าตรวจสภาพ และดำเนินการตามขั้นตอนโอนทางทะเบียนรถ ณ สำนักงานขนส่งที่จดทะเบียนด้วยตนเอง ไม่ควรซื้อขายด้วยวิธีการโอนลอย หรือการมอบอำนาจให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายดำเนินการแทน เนื่องจากการซื้อ – ขาย รถด้วยวิธีการโอนลอยโดยไม่ดำเนินการโอนทางทะเบียนให้ถูกต้องในทันที อาจก่อปัญหาให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

เช่น กรณีที่ผู้ซื้อไม่ดำเนินการชำระภาษีรถประจำปี หรือรถเกิดอุบัติเหตุ ยังคงปรากฏชื่อผู้ขายหรือเจ้าของรถเดิมทางทะเบียน เจ้าของรถรายเดิมยังคงมีส่วนรับผิดชอบกับความผิดนั้นๆ ขณะที่การไม่ดำเนินการโอนทางทะเบียน ทำให้ผู้ซื้อไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องของรถได้โดยสมบูรณ์ ดังนั้น การซื้อ-ขาย รถมือสองทุกครั้งควรดำเนินการทางทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกให้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย สบายใจ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มั่นใจได้ว่ารถที่ซื้อนั้นเป็นรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ฉะนั้นเวลาที่ทุกคนจะซื้อรถมือสองยังไงก็ตรวจตราให้ดี โดยเฉพาะสมุดคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถ ต้องตรงกับรถคันที่จะซื้อขายทุกอย่าง รวมถึงควรตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีรถประจำปีครบถ้วนถูกต้อง พร้อมนำรถเข้าตรวจสภาพ และดำเนินการตามขั้นตอนโอนทางทะเบียนรถ ณ สำนักงานขนส่งที่จดทะเบียนด้วยตนเอง ไม่ควรซื้อขายในรูปแบบของรถโอนลอย หรือการมอบอำนาจให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายดำเนินการแทน เพื่อที่จะไม่ต้องเสี่ยงเป็นรถผิดกฎหมายนั่นเอง

ดูเพิ่มเติม
>> วิธีดูรถมือสอง ต้องเช็กให้ชัวร์ กับ 7 ฟีเจอร์ประจำรถที่ต้องมี
>> การโอนรถคืออะไร? แล้วต้องเตรียมเอกสารโอนรถอะไรบ้าง

เข้าดู ตลาดรถ ได้ที่นี่