กำชับตำรวจกฎหมายใหม่ ออกใบสั่งห้ามยึดใบขับขี่ - ให้ใบสั่งส่งบ้านแทนเหน็บหน้ารถ

ตลาดรถยนต์ในประเทศ | 21 ส.ค 2562
แชร์ 7

กางรายละเอียดกฎหมายจราจรใหม่ ตำรวจดูใบขับขี่ได้แต่ห้ามยึด ภาพถ่ายใบขับขี่ใช้แทนตัวจริงไม่ได้ แต่ใช้ใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ได้แทน ส่วนการปรับใช้แต้มมาบังคับวินัย แต้มหมดหยุดขับ 90 วัน

ถือเป็นข่าวร้อนทีเดียวสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนในบ้านเรา หลังจากราชกิจจานุเบกษา ประกาศการบังคับใช้กฎหมายในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2562 (ฉบับที่ 12) ใหม่ ซึ่งผลบังคับใช้จะเริ่มในวันที่ 20 กันยายน 2562 นี้ ประเด็นสำคัญคือกฏหมายใหม่จะให้อำนาจกับตำรวจจราจรในการเรียกดู "ใบขับขี่" ของผู้ใช้ยานพาหนะได้ แต่ขณะเดียวกันตำรวจจราจรก็จะไม่มีสิทธิ์ "ยึดเอาใบขับขี่" ของผู้ใช้รถได้แม้จะกระทำผิดกฎหมายก็ตาม แต่บังคับให้ต้องออกใบสั่งให้ไปเสียค่าปรับเท่านั้น

สิ่งที่ตอกย้ำในรายละเอียดเป็นร่างคำสั่งจาก พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วยผบ.ตร.) ที่มีบันทึกข้อความลงวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา เรื่องกำชับการปฎิบัติตามกฎหมายใหม่ ใจความว่า ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ก.ย.62 มีบางมาตราที่บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตราเดิมและบัญญัติใหม่ โดยมีสาระสำคัญในการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานจราจร ดังนี้

ดีเดย์ 20 กันยายนนี้ ตำรวจดูใบขับขี่ได้ แต่ยึดไว้ไม่ได้

ดีเดย์ 20 กันยายนนี้ ตำรวจดูใบขับขี่ได้ แต่ยึดไว้ไม่ได้ 

1.เดิม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 140 วรรคสองในการออกใบสั่ง ให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราวโดยบัญญัติว่า “ในการออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้” แต่เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวถูกยกเลิกโดยมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2562 ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.62 เป็นต้นไป ในการออกใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรจึงไม่มีอำนาจเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ของผู้ขับขี่ต่อไป

2. ในกรณีเจ้าพนักงานจราจรที่ออกใบสั่งไม่พบตัวผู้ขับขี่ และไม่สามารถติด ผูกหรือแสดงใบสั่งไว้ที่รถได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด มาตรา 140 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2562 บัญญัติให้ส่งใบสั่งพร้อมด้วยพยานหลักฐานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถเพื่อให้ชำระค่าปรับ ดังนั้นในกรณีดังกล่าวการส่งใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรต้องส่งใบสั่งพร้อมด้วยพยานหลักฐาน และต้องส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ จึงจะถือว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งนั้นแล้วเมื่อผลกำหนด 15 วันนับแต่วันส่ง

กับอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ

กับอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ "ใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์" ก็ใช้โชว์ตำรวจได้เช่นกัน แต่รูปถ่ายใบขับขี่ไม่มีผลตามกฎหมาย 

3. ในการแสดงใบอนุญาตขับขี่ในขณะขับรถ มาตรา 31/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2562 บัญญัติว่า “ ในขณะขับรถในทางเดินรถ ผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่อยู่กับตัวและต้องแสดงต่อเจ้าพนักงานจราจรเมื่อขอตรวจ ในกรณีที่ผู้ขับขี่แสดงใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับขี่ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้ถือว่าผู้ขับขี่มีใบอนุญาตขับขี่อยู่กับตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว”

ดังนั้น การแสดงใบอนุญาตขับขี่ในขณะขับรถ ผู้ขับขี่สามารถแสดงใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับขี่ได้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงให้กำชับเจ้าพนักงานจราจรและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแล ศึกษาทำความเข้าใจ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ เพื่อจะได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติต่อไป

ดูเพิ่มเติม

>> ตำรวจฝากมาเตือน "สำเนาใบขับขี่" โชว์ตำรวจยังใช้ไม่ได้

>> ความสำคัญของใบขับขี่ ไม่มีโดนปรับ

สอดรับกับคำอธิบายของ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการศึกษา (รองผบช.ศ.) ที่ออกมาให้ความรู้ต่อสาธารณะเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ของการจราจรในท้องถนนบ้านเราว่า ง่ายๆ คือ ตำรวจเรียกตรวจใบอนุญาตขับขี่ แต่ไม่มีอำนาจในการเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ของผู้ขับอีกต่อไป ซึ่งจะต้องคืนให้กับประชาชน โดยผู้ขับขี่จะต้องพกใบอนุญาตขับขี่ขณะขับรถและจะต้องแสดงใบขับขี่เมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจ ซึ่งสามารถแสดงได้ 3 แบบ ได้แก่

1. ใบอนุญาตขับขี่ตัวจริงแบบเดิม

2. ใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ใบขับขี่ดิจิตอล ผ่านแอปพลิเคชัน DLT QR LICENCE

3. สำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับขี่ตามแบบฟอร์มที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ซึ่งไม่สามารถใช้ภาพที่ถ่ายจากโทรศัพท์มือถือได้

ทั้งนี้หลังจากประกาศใช้แล้ว ประชาชนสามารถพกใบอนุญาตขับขี่ได้อย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 แบบ ส่วนตัวยืนยันว่าสามารถใช้ได้จริง เพราะบังคับเป็นกฎหมาย เพื่อความสะดวกสบายของประชาชน

การตัดแต้มในใบขับขี่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการรักษาวินัยจราจรของคนไทยบนท้องถนน

การตัดแต้มในใบขับขี่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการรักษาวินัยจราจรของคนไทยบนท้องถนน 

สำหรับกฎหมายใหม่ฉบับนี้ เจ้าพนักงานจราจรไม่จำเป็นต้องยึดใบขับขี่ เนื่องจากมีระบบใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งสามารถเปรียบเทียบปรับได้ โดยเจ้าพนักงานจราจรจะตรวจสอบความถูกต้องของใบขับขี่ จากนั้นจะบันทึกข้อมูลผู้ขับขี่และการกระทำความผิดลงในใบสั่ง ให้กับผู้ขับขี่พร้อมใบขับขี่

ส่วนต้นขั้วใบสั่ง จะนำกลับไปที่สถานีตำรวจ หรือหน่วยงานจราจร เพื่อลงบันทึกตัดแต้ม เมื่อผู้ขับขี่มาเสียค่าปรับจะทราบว่าได้ถูกตัดแต้มไปเท่าใด และหากแต้มหมดทั้ง 12 แต้ม จะถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 90 วัน และแต้มจะกลับคืนมา 12 คะแนนตามเดิม โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการอบรมใหม่ และต้องสอบให้ผ่านจะได้รับแต้มคืน

หากภายใน 3 ปี ผู้ขับขี่ถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เกินกว่า 2 ครั้ง ซึ่งในครั้งที่ 3 จะถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 1 ปี และช่วงระหว่าง 1 ปี หากกระทำผิดอีกเป็นครั้งที่ 4 จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ในทันที

ดูเพิ่มเติม

>> ขนส่งเข้มงวด หลังตรวจพบใบขับขี่ปลอมระบาด เตือนประชาชนอย่าหลงเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

>> สารพันคำถามเกี่ยวกับใบขับขี่ สาระดี ๆ ที่คุณควรรู้

ติดตามข่าวสารรถยนต์ คลิกที่นี่ 
ต้องการซื้อรถมือสองสภาพดี เชิญเข้าดูที่ตลาดรถตรงนี้

Cop